คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 263/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 778 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 21.50 กรัม ไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำให้การรับสารภาพ และศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องจริง จึงจะลงโทษได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้อง และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา โดยอ้างว่าข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิดตามฟ้องเท่ากับอ้างว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง จึงมิใช่เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 หรือเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งจะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
จำเลยที่ 2 ยื่นให้การว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้โทษ แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้สอบคำให้การจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 2 แต่งตั้งทนายความสู้คดี โดยทนายจำเลยที่ 2 เรียงและพิมพ์คำให้การจำเลยที่ 2 ใหม่ มีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ศาลชั้นต้นสอบคำให้การดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ยืนยันตามคำให้การนี้ ดังนี้ จำเลยที่ 2 จะนำคำให้การฉบับแรกมาอ้างเพื่อให้ศาลฟังว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้โทษหาได้ไม่
ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะคำฟ้องไม่ปรากฏว่าได้บรรยายถึงสายลับที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ไปถึงจำเลยเพื่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนไว้จึงไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เป็นฎีกาปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ก็ยกขึ้นฎีกาได้
โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ มาในฟ้องดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ซึ่งเพียงพอทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนสายลับเป็นใคร เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ หาทำให้ฟ้องเคลือบคลุมไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 778 เม็ด น้ำหนัก 69.50 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 21.50 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลย (ที่ถูก จำเลยทั้งสอง) มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2) (ที่ถูก มาตรา 15 วรรคสาม (2)), 66 วรรคสาม (ที่ถูก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ด้วย) ให้จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตและปรับคนละ 1,000,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกคนละ 25 ปี และปรับคนละ 500,000 บาท ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งอ้างว่ามิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด เป็นไปในทำนองให้การปฏิเสธ เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ และเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จึงไม่รับวินิจฉัยนั้น ไม่ชอบเพราะจำเลยที่ 2 เคยให้การไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ตามคำให้การฉบับลงวันที่ 7 มกราคม 2548 ความว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ตั้งใจที่จะกระทำความผิด และไม่ทราบมาก่อนว่าเพื่อนของจำเลยที่ 2 มีพฤติกรรมจำหน่ายยาเสพติด เมื่อจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ก็ได้นำข้อเท็จจริงในคดีมาอธิบายโดยละเอียดนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 778 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 21.50 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา 66 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำให้การรับสารภาพ เมื่อพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง และศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องจริง จึงจะลงโทษได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้อง และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ทำนองว่า ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2 หนักไป ขอให้ลงโทษสถานเบา โดยอ้างว่าข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิดตามฟ้อง เท่ากับอ้างว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง จึงมิใช่เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 หรือเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งจะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงชอบที่จะต้องวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาดังกล่าวมาแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาใหม่ เห็นว่า แม้ตามคำให้การจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 7 มกราคม 2548 จะมีข้อความตามที่จำเลยที่ 2 อ้าง แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้สอบคำให้การจำเลยที่ 2 ดังกล่าว และต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยที่ 2 แต่งตั้งทนายความสู้คดี โดยในวันเดียวกันทนายจำเลยที่ 2 เรียงและพิมพ์คำให้การจำเลยที่ 2 ใหม่ มีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ทราบคำฟ้องของโจทก์แล้ว ขอให้การรับสารภาพตามฟ้องจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ศาลชั้นต้นสอบคำให้การดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ยืนยันตามคำให้การนี้ ดังนี้ จำเลยที่ 2 จะนำคำให้การฉบับแรกมาอ้างเพื่อให้ศาลฟังว่า จำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้โทษหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ทางนำสืบของโจทก์ซึ่งมีดาบตำรวจสายชล ศรีแจ้ง เบิกความนั้นได้ความเพียงว่า เจ้าพนักงานตำรวจมอบหมายให้สายลับโทรศัพท์ไปล่อซื้อยาเสพติดให้โทษจากจำเลยที่ 1 ส่วนที่อ้างว่าสายลับติดต่อส่งเมทแอมเฟตามีนกับจำเลยที่ 2 ทางโทรศัพท์ของจำเลยที่ 2 เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ บันทึกการจับกุมตามเอกสารหมาย จ.1 ยังปรากฏว่าสายลับได้โทรศัพท์ที่หมายเลข 01-1773002 ติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีน 200 เม็ด ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับสาย ได้ตอบตกลงจะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้ นอกจากนี้รถยนต์ของกลางก็เป็นของจำเลยที่ 1 ระหว่างจับกุมได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ ส่วนจำเลยที่ 2 นั่งด้านซ้ายตอนหน้าของรถยนต์ โดยในมือซ้ายของจำเลยที่ 2 กำวัตถุพันด้วยเทปกาวสีน้ำตาล ซึ่งมองดูด้วยตาเปล่าย่อมไม่ทราบว่าเป็นห่ออะไร ประกอบกับลิ้นชักภายในรถพบเมทแอมเฟตามีนอีก 3 ห่อ พันด้วยเทปกาวสีน้ำตาลเช่นกัน และตามบัญชีของกลางเอกสารหมาย จ.2 มีเพียงโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องเดียวที่เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ไม่พบทรัพย์สินอื่นภายในตัวจำเลยที่ 2 ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดครั้งนี้นั้น เห็นว่า ในวันเวลาใกล้ชิดกับเวลานัดหมายส่งเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 2 นั่งรถมากับจำเลยที่ 1 โดยในมือซ้ายกำห่อซึ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีน ส่วนมือขวายังคงถือโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ ซึ่งขณะเข้าจับกุมจำเลยทั้งสองได้นั้นใกล้เคียงกับเวลาที่ดาบตำรวจสายชล พยานโจทก์เห็นรถของจำเลยที่ 1 ขับผ่านไป โดยดาบตำรวจสายชลเบิกความยืนยันว่าระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 ได้โทรศัพท์เข้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของสายลับ และเมื่อตามไปถึงจุดนัดหมาย พยานกับพวกแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและแกะดูวัตถุที่จำเลยที่ 2 กำไว้ ปรากฏว่าภายในเป็นถุงบรรจุเมทแอมเฟตามีน จำนวน 192 เม็ด กับพบห่อเมทแอมเฟตามีนอีก 3 ห่อ ซึ่งพันด้วยเทปกาวสีน้ำตาลอยู่ที่ลิ้นชักด้านหน้าของรถจำเลยที่ 1 สอบถามจำเลยทั้งสองยอมรับว่าจะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้ลูกค้าที่สั่งซื้อ 1 ถุง ในราคา 23,000 บาท ตรงตามที่สายลับโทรศัพท์ติดต่อขอซื้อ ชั้นจับกุมแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามี) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.1/1 โดยขณะดาบตำรวจสายชลเบิกความนั้นจำเลยทั้งสองมีทนายความซึ่งอาจซักค้านพยานโจทก์ดังกล่าวได้ โดยดาบตำรวจสายชลเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ครั้งแรกสายลับโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นเวลา 23 นาฬิกาเศษ จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ติดต่อกับสายลับ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ถามค้านไว้แสดงว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับว่าที่ดาบตำรวจสายชลเบิกความนั้นเป็นความจริงทั้งหมด และการที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมทันที ก็มีเหตุน่าเชื่อว่าเป็นเพราะจำเลยที่ 2 ถูกจับโดยกะทันหันพร้อมห่อซึ่งภายในมีเมทแอมเฟตามีนถึง 192 เม็ด จึงยังไม่มีโอกาสได้ไตร่ตรองหาข้อแก้ตัวได้ทันในขณะนั้น หากจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าวัตถุที่กำไว้ในมือซ้ายเป็นเมทแอมเฟตามีน และไม่มีส่วนร่วมในการจะนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายให้แก่สายลับตามที่นัดหมายให้มาพบในที่เกิดเหตุ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 2 จะต้องให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ชั้นสอบสอบ และชั้นพิจารณาของศาล ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบันทึกการจับกุมและคำให้การของจำเลยที่ 2 ในสำนวนแล้วมีข้อความสอดคล้องกับที่พยานโจทก์ผู้จับกุมจำเลยทั้งสองเบิกความ ส่วนที่โจทก์ไม่มีสายลับมาเบิกความนั้นก็ไม่เป็นพิรุธแต่อย่างใด เพราะจำเลยที่ 2 ยอมรับแล้วว่าการถูกจับครั้งนี้เกิดเพราะเจ้าพนักงานตำรวจให้สายลับมาล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจริง ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 จึงมีน้ำหนักฟังได้เป็นที่พอใจโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อมาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะคำฟ้องไม่ปรากฏว่าได้บรรยายถึงสายลับที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ไปถึงจำเลยเพื่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนไว้จึงไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้นเป็นฎีกาปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ก็ยกขึ้นฎีกาได้และเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 778 เม็ด น้ำหนัก 69.50 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 21.50 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ตำบลบางทราย อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี จึงเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ซึ่งเพียงพอทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนสายลับจะเป็นใคร เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ หาเคลือบคลุมดังจำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ ทั้งมิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง”
พิพากษายืน

Share