คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7264/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ขับรถยนต์ของโจทก์ลงจากอาคารจอดรถของจำเลยแล้วแสดงบัตรจอดรถที่มีตราประทับว่าบริการแผนกจัดเลี้ยง 14 ต่อ น. พนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งทำหน้าที่เก็บค่าบริการจอดรถ โจทก์จึงไม่เสียค่าจอดรถแก่จำเลย โดยโจทก์ทราบดีว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีข้อห้ามมิให้พนักงานนำรถขึ้นไปจอดบนอาคารจอดรถ และโจทก์ทราบอยู่แล้วว่าวันเกิดเหตุมีการนำรถขึ้นไปจอดโดยไม่มีสิทธิและไม่ได้รับการยกเว้นและโจทก์ควรจะแจ้งความจริงดังกล่าวให้ น. ทราบขณะยื่นบัตรจอดรถนั้นมิใช่กรณีที่ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ตอนแรก กรณีจะต้องได้ความว่าผู้กระทำผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง โจทก์แสดงบัตรจอดรถที่มีตราประทับว่าบริการแผนกจัดเลี้ยง 14 ต่อ น. เพื่อจอดรถโดยไม่ต้องเสียค่าจอดรถเท่านั้น โจทก์ได้รับผลเพียงการบริการจอดรถจากจำเลยโจทก์หาได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากจำเลยไม่ การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกง และมิได้เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2526 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ทำหน้าที่พนักงานเก็บเงิน ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ7,730 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 7 พฤษภาคม2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานกับจำเลยกว่า 3 ปี ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 13,914 บาท ค่าชดเชยจำนวน46,380 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าชดเชยนับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์นำรถยนต์เข้าจอดในอาคารจอดรถของจำเลย ทั้งที่โจทก์ทราบว่าต้องชำระเงินตามที่จำเลยกำหนดแต่โจทก์กลับทุจริตนำบัตรจอดรถที่มีการประทับตราของจำเลยเพื่อแสดงว่าเป็นแขกซึ่งเข้ามาจัดงานเลี้ยงอันได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าจอดรถตามที่จำเลยเรียกเก็บ แสดงต่อพนักงานเก็บเงินโดยไม่ต้องชำระค่าจอดรถการกระทำของโจทก์เป็นการกระทำผิดอาญาฉ้อโกงรายได้ค่าจอดรถ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน46,380 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 7พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์กระทำความผิดอาญาฐานฉ้อโกงจำเลยผู้เป็นนายจ้างและจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341บัญญัติว่า “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามหรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง”คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ขับรถยนต์ของโจทก์ลงจากอาคารจอดรถของจำเลยแล้วแสดงบัตรจอดรถที่มีตราประทับว่าบริการแผนกจัดเลี้ยง 14ต่อนายนุกูล สุพร พนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งทำหน้าที่เก็บค่าบริการจอดรถโจทก์จึงไม่เสียค่าจอดรถแก่จำเลย โดยโจทก์ทราบดีว่าจำเลยมีข้อห้ามมิให้พนักงานนำรถขึ้นไปจอดบนอาคารจอดรถ และโจทก์ทราบอยู่แล้วว่าวันเกิดเหตุมีการนำรถขึ้นไปจอดโดยไม่มีสิทธิและไม่ได้รับการยกเว้น โจทก์ควรจะแจ้งความจริงดังกล่าวให้นายนุกูลทราบขณะยื่นบัตรจอดรถ เห็นว่า การกระทำผิดฐานฉ้อโกงตามที่จำเลยให้การและอุทธรณ์ขึ้นมานั้น มิใช่กรณีที่ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิแต่เป็นความผิดตามมาตรา 341 ตอนแรก คือกรณีจะต้องได้ความว่าผู้กระทำผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงคดีนี้ได้ความว่าโจทก์แสดงบัตรจอดรถที่มีตราประทับว่าบริการแผนกจัดเลี้ยง 14 ต่อนายนุกูลเพื่อจอดรถโดยไม่ต้องเสียค่าจอดรถเท่านั้น โจทก์ได้รับผลเพียงการบริการจอดรถจากจำเลยโจทก์หาได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากจำเลยไม่ การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกง และมิได้เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย”
พิพากษายืน

Share