แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับ ป. ลักทรัพย์ของผู้เสียหาย เป็นพยานบอกเล่าที่ใช้เป็นพยานหลักฐานได้เพียงนำไปรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เท่านั้น แต่คำเบิกความของพนักงานสอบสวนที่ว่าพยานเป็นผู้สอบสวนจำเลย และจำเลยได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นคำเบิกความของประจักษ์พยานในข้อที่ว่ามีการสอบสวนจำเลยแล้วจำเลยให้การรับสารภาพว่าอย่างไร ทั้งพนักงานสอบสวนก็ไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจคำให้การดังกล่าวจึงใช้ยันจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน แต่ไม่ได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ดังนี้ศาลจะลงโทษตามมาตรา 365 ไม่ได้เพราะโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 สูงกว่ามาตรา 364เป็นการเกินคำขอต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง พยานหลักบานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานบุกรุก คำเบิกความและข้อนำสืบของพยานโจทก์ก็ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตามระเบียบในความผิดฐานนี้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจทำการสอบสวนพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120และ 121 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 335, 364
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335(1)(3)(7)(8) วรรคสามที่แก้ไขแล้ว, 364 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานลักทรัพย์จำคุก 3 ปี ฐานบุกรุกจำคุก 1 ปีรวมจำคุก 4 ปี คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2539 เวลากลางคืนมีคนร้ายบุกรุกเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วลักทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้องไปโดยในการลักทรัพย์ดังกล่าวคนร้ายได้งัดเปิดหลังคาบ้านเพื่อลงไปลักทรัพย์อันเป็นการทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใด ๆ ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2539 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา จ่าสิบตำรวจสมพงษ์ จรูญสวัสดิชัยจับจำเลยได้ในห้องน้ำในบริเวณบ้านผู้เสียหายและยึดเครื่องเล่นวีดีโอเทป 1 เครื่อง ของผู้เสียหายซึ่งคนร้ายลักไปได้ที่บ้านของจำเลยกับยึดทรัพย์สินอย่างอื่นที่คนร้ายลักไปได้ที่บ้านของนายประนอม วุ้นแป้น มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับความผิดฐานลักทรัพย์โจทก์มีผู้เสียหายและจ่าสิบตำรวจสมพงษ์เป็นพยานเบิกความว่าเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2539 เวลาประมาณ1 นาฬิกา ผู้เสียหายได้ยินเสียงสุนัขเห่าที่บริเวณห้องน้ำภายในบริเวณบ้านผู้เสียหาย จึงโทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจจ่าสิบตำรวจสมพงษ์ได้ไปที่บ้านผู้เสียหายพบจำเลยอยู่ในห้องน้ำในบริเวณบ้านผู้เสียหายจากการสอบถามจำเลยรับว่าได้ร่วมกับนายประนอมลักทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้องไปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2539 โดยวีดีโอยังอยู่ที่บ้านจำเลยส่วนทรัพย์สินอย่างอื่นของผู้เสียหายอยู่ที่บ้านนายประนอมและจำเลยนำจ่าสิบตำรวจสมพงษ์ไปยึดวีดีโอตามบัญชีของกลางคดีอาญาลำดับที่ 1 เอกสารหมาย จ.3 ได้ที่บ้านของจำเลยและพบนายประนอมที่บ้านจำเลย นายประนอมนำไปยึดเครื่องซีดี จูนเนอร์ เทปใบ้ และปรีแอมป์ ลำดับที่ 2 ถึงที่ 5เอกสารหมาย จ.3 ที่บ้านนายประนอมเป็นของกลางเจ้าพนักงานตำรวจจึงจับจำเลยและแจ้งข้อหาว่าร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายหรือรับของโจร จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 และโจทก์ยังมีร้อยตำรวจโทโชคชัย สุทธิเมฆ พนักงานสอบสวนเบิกความว่าในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกับนายประนอมลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปจริง ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.7 และจำเลยนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.9 เห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าใครเป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ของผู้เสียหาย คงมีแต่คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับนายประนอมลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นเพียงพยานบอกเล่าที่ใช้เป็นพยานหลักฐานได้เพียงนำไปรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ก็ตาม แต่คำเบิกความของพนักงานสอบสวนที่ว่าพยานเป็นผู้สอบสวนจำเลย และจำเลยได้ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นคำเบิกความของประจักษ์พยานในข้อที่ว่ามีการสอบสวนจำเลยแล้วจำเลยให้การรับสารภาพว่าอย่างไร ทั้งพนักงานสอบสวนก็ไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ คำให้การดังกล่าวจึงใช้ยันจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134เมื่อรับฟังประกอบพยานโจทก์ที่ว่าจำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดทรัพย์ของกลางของผู้เสียหายได้จากบ้านจำเลยและจากนายประนอมโดยการนำชี้ของจำเลยแล้วฟังได้ว่า จำเลยได้ลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปจริง ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยให้การรับสารภาพเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกายและขู่เข็ญก็เป็นการนำสืบลอย ๆ ปราศจากพยานหลักฐานอื่นใดสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในฐานนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาในความผิดฐานบุกรุกว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกับพวกบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนและร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนแล้วแม้จะอ้างบทมาตราที่ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 364 โดยไม่ได้อ้างบทมาตรา 365 ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องและข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบก็ได้ความอย่างชัดเจนว่าจำเลยบุกรุกในเวลากลางคืน จึงถือได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365แล้วนั้นเห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืนก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ศาลก็จะลงโทษตามมาตรา 365 ไม่ได้ เพราะโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365 สูงกว่ามาตรา 364 จึงเป็นการเกินคำขอต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งเมื่อความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364เป็นความผิดอันยอมความได้ มีปัญหาว่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานนี้แล้วหรือไม่ ในข้อนี้โจทก์มิได้บรรยายมาในคำฟ้องให้ปรากฏว่าได้มีการร้องทุกข์ตามระเบียบแล้วและในชั้นพิจารณาผู้เสียหายก็เบิกความแต่เพียงว่าเมื่อได้ยินเสียงสุนัขเห่าที่บริเวณห้องน้ำด้านหลังบ้านจึงโทรศัพท์แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจมาถึงเปิดห้องน้ำ จับจำเลยนำไปที่สถานีตำรวจแจ้งข้อหาแก่จำเลยและจำเลยให้การรับสารภาพเท่านั้น และจ่าสิบตำรวจสมพงษ์ผู้จับจำเลยได้บันทึกการจับกุมตามเอกสารหมาย จ.1 ไว้ว่าจับจำเลยและนายประนอมได้พร้อมของกลาง แจ้งข้อกล่าวหาบุคคลทั้งสองว่าร่วมลักทรัพย์หรือรับของโจร เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2539 จำเลยให้การรับสารภาพไม่ได้แจ้งข้อหาในความผิดฐานบุกรุกด้วยแต่อย่างใด ส่วนร้อยตำรวจโทโชคชัยพนักงานสอบสวนเบิกความว่าได้แจ้งข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจรแก่จำเลย ต่อมาได้แจ้งข้อหาบุกรุกตามคำสั่งของพนักงานอัยการ จำเลยให้การรับสารภาพเท่านั้นเห็นว่าจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏเลยว่า ผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานบุกรุกแต่อย่างใด คำเบิกความและข้อนำสืบของพยานโจทก์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ตามระเบียบในความผิดฐานนี้แล้ว พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจทำการสอบสวนฉะนั้นพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 และ 121 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานบุกรุกนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335(1)(3)(7)(8) วรรคสามให้จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3