แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 เพื่อทำนา ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แจ้งเป็นหนังสือต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทในราคา 160,000 บาทถ้าโจทก์จะซื้อให้ตอบภายใน 30 วัน มิฉะนั้นจะขายให้บุคคลอื่น โจทก์ไม่ได้ติดต่อขอซื้อจากจำเลยที่ 1ดังนั้น เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่โจทก์จะใช้สิทธิซื้อที่ดินพิพาทแล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2และจดทะเบียนการขายต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงเป็นการปฏิบัติตามความในมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้ว
พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มิได้ให้อำนาจคณะกรรมการควบคุมการเช่านาตำบลที่จะยับยั้งผู้ให้เช่านาไม่ให้ขายที่นาที่ให้เช่าได้แม้คณะกรรมการดังกล่าวจะมีมติยับยั้งไม่ให้ผู้ให้เช่าขายที่ดิน ผู้ให้เช่าก็ไม่จำต้องปฏิบัติตาม.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2521 โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 จะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1792 ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้าจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งโจทก์เช่าจากจำเลยที่ 1 ทำนาอยู่ให้จำเลยที่ 2 ในราคา 64,300 บาท จึงไปคัดค้านต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางคล้า เจ้าพนักงานที่ดินแนะนำให้โจทก์จำเลยที่ 1 ไปติดต่อคณะกรรมการควบคุมการเช่านาอำเภอบางคล้า เพื่อดำเนินการซื้อขายที่ดินกัน จำเลยที่ 1 ไม่ยอมไป ครั้นวันที่ 21กรกฎาคม 2521 โจทก์ได้รับหนังสือจำเลยที่ 1 แจ้งว่าจะขายที่ดินนั้นในราคา 160,000 บาทถ้าโจทก์จะซื้อให้ตอบภายใน 30 วัน ต่อมานายอำเภอบางคล้ามีหนังสือลงวันที่ 30 สิงหาคม 2521 แจ้งโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงขายที่ดินนั้นให้จำเลยที่ 2 ในราคา 160,000บาท ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2521 ให้โจทก์ไปแสดงความจำนงจะซื้อนาภายใน 30 วัน มิฉะนั้นจะหมดสิทธิซื้อนาตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 วันที่ 22 กันยายน 2521คณะกรรมการควบคุมการเช่านาอำเภอบางคล้าเรียกโจทก์จำเลยมาสอบถามโจทก์คงขอซื้อในราคาเดิม 64,300 บาท จำเลยที่ 1 จะขายในราคาใหม่ 160,000 บาท ตกลงกันไม่ได้ จึงมีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องภายใน 30 วัน แต่จำเลยที่ 1 กลับโอนขายที่ดินให้จำเลยที่2 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2521 โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและคำสั่งคณะกรรมการดังกล่าว จำเลยทั้งสองตีราคาซื้อขายให้สูง เพื่อบีบบังคับให้โจทก์ต้องซื้อในราคาใหม่ โดยจำเลยทั้งสองซื้อขายกันจริงในราคา 64,300 บาท สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยทั้งสองจึงเป็นนิติกรรมอำพราง โจทก์มีสิทธิขอให้ศาลบังคับจำเลยขายที่ดินให้โจทก์ตามราคาที่ตกลงไว้เดิม ขอให้บังคับจำเลยที่2 โอนขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ในราคา 64,300 บาท หากจำเลยที่2 ไม่ปฏิบัติ ให้เอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองซื้อขายที่ดินพิพาทในราคา 160,000 บาท ก่อนจะซื้อขายจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาว่าจะขายที่ดินดังกล่าวในราคา 160,000 บาทแล้ว แต่โจทก์มิได้แสดงความจำนงจะซื้อภายในกำหนดเวลา จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ในราคา 64,300 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้แกล้งบอกขายที่ดินพิพาทในราคาสูงแก่โจทก์ หากแต่ได้ขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ในราคา 160,000 บาทจริง แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าคงเหลือปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ในการขายที่ดินพิพาทนั้น จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้รับหนังสือตามเอกสาร หมาย จ.3 จากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2521 แจ้งว่าจำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทในราคา 160,000 บาท ถ้าโจทก์จะซื้อให้ตอบภายใน 30 วัน มิฉะนั้นจะขายให้บุคคลอื่น แต่โจทก์มิได้ติดต่อกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด และคดีได้ความจากพยานหลักฐานของจำเลยอีกว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งสัญญาจะขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ให้นายอำเภอบางคล้าทราบตามเอกสาร หมาย ล.6 แล้ว ดังนั้นเมื่อต่อมาวันที่ 26กันยายน 2521 ซึ่งพ้นกำหนดเวลาที่โจทก์จะใช้สิทธิซื้อที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาท และจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน การขายที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการปฏิบัติตามความในมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่าคณะกรรมการควบคุมการเช่านาตำบลเสม็ดใต้ได้ประชุมเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2521 มีมติให้ยับยั้งการซื้อขายที่ดินพิพาทไว้ 1 เดือน เพื่อให้โจทก์ได้ไตร่ตรองก่อนแต่ต่อมาเพียง 5 วัน คือวันที่ 26 กันยายน2521 จำเลยทั้งสองก็ทำสัญญาโอนขายที่ดินพิพาทกัน เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517หาได้มีข้อความระบุให้คณะกรรมการควบคุมการเช่านาตำบล มีอำนาจยับยั้งผู้ให้เช่านาไม่ให้ขายที่นาที่ให้เช่าไม่ แม้คณะกรรมการดังกล่าวจะมีมติยับยั้งไม่ให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ก็ไม่จำต้องปฏิบัติตาม
พิพากษายืน.