คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2622/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ ป. กับผู้ตายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรส จึงไม่เป็นคู่สมรสกันตามกฎหมาย ฉะนั้นเมื่อป. และผู้ตายได้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมในวันเดียวกัน โดย ป. จดทะเบียนก่อนผู้ตาย ผู้คัดค้านย่อมเป็นบุตรบุญธรรมของ ป. ก่อนแล้ว จะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/26การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมของผู้ตายจึงไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลตามกฎหมาย ผู้คัดค้านไม่ใช่ทายาทของผู้ตายไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ย่อมไม่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือถอนผู้จัดการมรดกของผู้ตาย.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณา ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นมารดาของนางสำรวยผู้ตาย ผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากับนายปลี โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ไม่มีบุตรด้วยกัน ก่อนตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้ผู้ร้อง ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกในคดีแรก
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมของนายปลีและผู้ตาย มีสิทธิรับมรดก ขอให้ตั้งนายปลีเป็นผู้จัดการมรดกในคดีหลัง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 28/2526 และตั้งนายปลีเป็นผู้จัดการมรดกตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 46/2526
ต่อมาผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกแต่ละสำนวน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งตั้งนางสำลี วงษ์รักษาผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นมารดาของนางสำรวย วงษ์รักษา ผู้ตาย เมื่อปี พ.ศ. 2502 ผู้ตายได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายปลี กวยรักษา โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสไม่มีบุตรด้วยกัน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2525 นายปลีและผู้ตายได้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรม ตามเอกสารหมายรค.15 รค.16 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2525 ผู้ตายถึงแก่ความตายปรากฏตามมรณบัตรเอกสารหมาย รค.19 ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 28/2526และตั้งนายปลีเป็นผู้จัดการมรดกตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่46/2526 ของศาลชั้นต้น ที่ผู้ร้องฎีกาว่า นายปลีกับผู้ตายอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ไปจดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมในขณะเดียวกัน เป็นการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมซ้ำซ้อนกัน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/26 ปัญหาวินิจฉัยมีว่าการจดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรมของนายปลีและผู้ตายมีผลตามกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อนายปลีกับผู้ตายได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาในปี พ.ศ. 2502โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จึงไม่เป็นคู่สมรสกันตามกฎหมายและเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2525 นายปลีกับผู้ตายได้ไปขอจดทะเบียนรับผู้คัดค้านเป็นบุตรบุญธรรม นายปลีได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเลขที่ 3/446 และผู้ตายได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมเลขที่ 4/447 ในวันเดียวกันตามเอกสารหมาย รค.15และ รค.16 จึงฟังได้ว่านายปลีได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมก่อนผู้ตาย ผู้คัดค้านจึงเป็นบุตรบุญธรรมของนายปลีก่อนแล้วจะเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายอีกในขณะเดียวกันไม่ได้ เมื่อนายปลีกับผู้ตายมิได้เป็นคู่สมรสกันตามกฎหมาย เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/26 การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมของผู้ตายจึงไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลตามกฎหมายผู้คัดค้านไม่ใช่ทายาทไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก หรือถอนผู้จัดการมรดกของผู้ตายศาลฎีกาไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาผู้ร้องฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอให้เพิกถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้าน ให้เพิกถอนคำสั่งตั้งนายปลี กวยรักษา เป็นผู้จัดการมรดกของนางสำรวย วงษ์รักษา ผู้ตาย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ’.

Share