คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 891/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 301 วรรถ 3 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ 4) พ.ศ.2477 มาตรา 7 นั้น กำหนดโทษไว้หนักกว่าความผิดฐานฆ่าคนตายตามมาตรา 250 ประกอบด้วยมาตรา 60
ฉะนั้นเมื่อศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 301 วรรค 3 แล้ว แม้โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 250,60 ด้วย ศาลฎีกาก็ไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยจะมีความผิดตามมาตรา 250 ประกอบด้วยมาตรา 60 ด้วยหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยสมคบกันปล้นทรัพย์และใช้ปืนยิงพวกเจ้าทรัพย์โดยเจตนาฆ่า แต่ถูกที่ไม่สำคัญ จึงไม่ตายขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๓๐๑,๒๕๐,๖๐
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทุกคนตามมาตรา ๓๐๑
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒ ที่ ๑
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ปรากฎว่าส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไม่ได้จึงจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยทั้ง ๒ นั้นเสีย มีข้อวินิจฉัยเฉพาะจำเลยที่ ๑
ศาลฎีกาคงฟังข้อเท็จจริงตามศาลล่างว่า จำเลยที่ ๑ ปล้นทรัพย์รายนี้จริง ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตามมาตรา ๒๕๐,๖๐ ด้วยนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๓๐๑ วรรค ๓ ซึ่งมีกำหนดโทษจำคุกยี่สิบปีหรือตลอดชีวิต ส่วนมาตรา ๒๕๐ กำหนดโทษถึงประหารชีวิตก็จริง แต่ความผิดฐานพยายามตามมาตรา ๖๐ ให้ลงอาญาเพียงสองในสาม คือลดลงตามมาตรา ๓๗ ข้อ ๑ เป็นอาญาจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปีตามมาตรา ๓๐๑ วรรค ๓ จะลงโทษต่ำกว่า ๒๐ ปีไม่ได้ จึงเป็นอันว่าความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา ๓๐๑ วรรค ๓ กฎหมายกำหนดโทษไว้หนักกว่าความผิดตามมาตรา ๒๕๐ ประกอบด้วยมาตรา ๖๐ และ ๓๗ นั้น ดังนี้คดีจึงไม่จำเป็นจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา ๒๕๐-๖๐ ด้วยหรือไม่ จึงให้ยกฎีกาจำเลย
คงพิพากษายืน

Share