แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เช็คปลอมจำนวน 23 ฉบับ เป็นส่วนหนึ่งของเช็คที่จำเลยลักมาจากธนาคารโจทก์ร่วมซึ่งจำเลยเป็นพนักงานอยู่ ไม่ปรากฏว่าเช็คดังกล่าวได้สูญหายไปจากจำเลย การที่บุคคลอื่นจะนำเช็คนั้นไปกรอกวันเดือนปี จำนวนเงิน และปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายทำเป็นเช็คปลอมแล้วนำไปขึ้นเงินได้นั้นบุคคลนั้นต้องได้รับเช็คไปจากจำเลยการที่จำเลยมอบเช็คที่ลักมาให้ผู้อื่นไปกระทำการดังกล่าว เป็นขั้นตอนที่จะให้สำเร็จผลดังเจตนาของจำเลยกับพวกในการที่จะหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ร่วมโดยนำเช็คปลอมนั้น ๆ ไปขึ้นเงินตามเช็คปลอม 23 ฉบับนั้น จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกับผู้อื่นใช้ตั๋วเงินปลอมและฉ้อโกงโจทก์ร่วม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑, ๒๖๔, ๒๖๖, ๒๖๘, ๓๓๕, ๓๔๑ และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด เข้าเป็นโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑๑) รวมสองกรรม ให้ลงโทษจำเลยในข้อนี้มีกำหนดกรรมละ ๑ ปีกับผิดตามมาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๖๔, ๒๖๖ (๔) และมาตรา ๓๔๑, ๘๓ อันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๖๘ ประกอบมาตรา ๒๖๔, ๒๖๖ (๔), ๘๓ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐ รวมยี่สิบห้ากรรม ลงโทษจำเลยในข้อหานี้มีกำหนดกรรมละ ๑ ปี เรียงกระทงโทษจำเลยรวมทั้งสิ้นยี่สิบเจ็ดกระทงตามมาตรา ๓, ๙๑ (๒) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ เป็นให้จำคุกจำเลยไว้กำหนด ๒๐ ปี และให้จำเลยใช้ราคาสมุดเช็ค ๒ เล่ม เป็นเงิน ๔๐ บาท กับชดใช้เงินตามเช็ค ๒๒๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ร่วมด้วย คำขอของโจทก์อย่างอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๔, ๒๖๖ (๔), ๓๔๑, ๘๓ จำนวน ๒๒ กระทง เมื่อเรียงกระทงลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ ๒ กรรม ฐานใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกง ๓ กระทง รวม ๕ กรรม จำคุกกรรมละ ๑ ปี รวมจำคุก ๕ ปี ให้จำเลยคืนเงินตามเช็คจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาทแก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาถลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมมีหน้าที่ควบคุมดูแลบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน นายบำรุง วงศ์ชุมพิศ เป็นลูกค้าของโจทก์ร่วมโดยเปิดบัญชีกระแสรายวัน จำเลยได้ใช้อุบายลักสมุดเช็คของโจทก์ร่วมไป รวม ๒ เล่ม เล่มที่ลักในครั้งแรกมี ๒๐ ฉบับ และเล่มที่ลักไปครั้งที่สองมี ๒๕ ฉบับ โดยจำเลยกรอกข้อความลงในบัญชีจ่ายเช็คว่าสมุดเช็คดังกล่าวจ่ายให้นายบำรุง วงศ์ชุมพิศ ต่อมาระหว่างวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๒๑ ถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๒ ต่อเนื่องกันได้มีบุคคลนำเช็คที่จำเลยลักไปทั้งสองเล่มดังกล่าวไปกรอกข้อความวันเดือนปี จำนวนเงินและข้อความอื่น ๆ ทั้งปลอมลายมือชื่อนายบำรุง วงศ์ชุมพิศ เป็นผู้สั่งจ่ายเงินตามเช็คนั้น ๆ รวม ๒๕ ฉบับ รวมเป็นจำนวนเงิน ๒๒๐,๐๐๐ บาท และมีบุคคลนำเช็คปลอมดังกล่าวไปขอรับเงินจากโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมหลงเชื่อว่าเป็นเช็คที่นายบำรุง วงศ์ชุมพิศ เป็นผู้สั่งจ่ายจริง จึงจ่ายเงินตามเช็คปลอมนั้น ๆ ให้แก่ผู้ขอรับเงินตามเช็คปลอมนั้นไปรวม ๒๕ ฉบับ รวมเป็นเงิน ๒๒๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยเป็นผู้นำเช็คดังกล่าวไปขอรับเงิน ๓ ฉบับ และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่า คดีมีปัญหาว่าเช็คปลอมเอกสารหมาย จ.๔ ถึง จ.๒๕ ที่บุคคลอื่นนำไปรับเงินนั้น จำเลยได้ร่วมกระทำความผิดใช้เช็คปลอมและฉ้อโกงด้วยหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวนี้เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเช็คปลอมเอกสารหมาย จ.๔ ถึง จ.๒๕ เป็นเช็คที่จำเลยลักมาและตามสำนวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเช็คที่จำเลยลักมาดังกล่าวได้สูญหายไป การที่บุคคลอื่นจะนำเช็คที่จำเลยลักมานั้นไปกรอกวันเดือนปี จำนวนเงินและปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายทำเป็นเช็คปลอมแล้วนำไปขึ้นเงินได้นั้นบุคคลนั้นต้องได้รับเช็คนั้น ๆ ไปจากจำเลย การที่จำเลยมอบเช็คที่ลักมาให้ผู้อื่นไปกระทำการดังกล่าว เห็นว่าเป็นขั้นตอนที่จะให้สำเร็จผลดังเจตนาของจำเลยกับพวกในการที่จะหลอกลวงเอกเงินโจทก์ร่วม โดยนำเช็คปลอมนั้น ๆ ไปขึ้นเงินตามเช็คปลอมเอกสารหมาย จ.๔ ถึง จ.๒๕ จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกับผู้อื่นใช้ตั๋วเงินปลอมและฉ้อโกงโจทก์ร่วมสำหรับเช็คแต่ละฉบับที่นำไปขึ้นเงินซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ คดีนี้จำเลยและพวกนำเช็คปลอมไปขึ้นเงินรวม ๒๕ ฉบับตามเอกสารหมาย จ.๔ ถึง จ.๒๘ รวมเป็นเงิน ๒๒๐,๐๐๐ บาท จำเลยต้องมีความผิดทุกกรรมรวม ๒๕ กรรม ซึ่งศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยไปแล้ว ๓ กรรม
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดให้ลงโทษจำเลยและบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น