แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเช่าซื้อรถยนต์มีข้อความว่า เงินค่างวดที่ค้างชำระ ถึงแม้เจ้าของจะกลับเข้าครอบครองรถแล้ว หากเจ้าของจำหน่ายรถได้เงินไม่ครบถ้วนตามราคาที่ค้างชำระในสัญญาเท่าใด เจ้าของมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้เช่าซื้อชดใช้จนครบจำนวนที่ขาดได้ด้วย ดังนี้ หมายถึงไม่ครบถ้วนตามราคาที่ค้างชำระ จึงต้องเอาค่าเช่าซื้อที่ชำระแล้วไปหักค่าเช่าซื้อทั้งหมด เหลือเท่าใดเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ หากขายรถพิพาทได้ราคาต่ำกว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ส่วนที่ขาดให้โจทก์จนครบ หากขายได้ราคาไม่ต่ำหว่าก็ไม่ต้องรับผิด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ขายรถพิพาทได้เงินสูงกว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีก แม้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจะขาดนักและมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ด้วย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันตามลำดับในค่าเสียหายรวมเป็นเงิน ๖๙,๐๓๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาที่แท้จริงคือการกู้ยืมเงิน หากฟังว่าเป็นการเช่าซื้อจริง โจทก์ก็ไม่ได้รับความเสียหายเพราะรถยนต์ที่เช่าซื้อเมื่อจำเลยที่ ๑ คืนให้โจทก์ไปแล้วโจทก์ขายได้เงินสูงกว่าราคาเช่าซื้อที่ค้าง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาข้อ ๗ เป็นเงิน ๑๙,๒๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาเช่าซื้อรถยนต์มีข้อความว่า เงินค่างวดที่ค้างชำระ ถึงแม้เจ้าของจะกลับเข้าครอบครองรถแล้ว หากเจ้าของจำหน่ายรถได้เงินไม่ครบถ้วนตามราคาที่ค้างชำระในสัญญาเท่าใดเจ้าของมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้เช่าซื้อชดใช้จนครบจำนวนที่ขาดได้ด้วยดังนี้ หมายถึงไม่ครบถ้วนตามราคาที่ค้างชำระ จึงต้องเอาค่าเช่าซื้อที่ชำระแล้วไปหักค่าเช่าซื้อทั้งหมด เหลือเท่าใดเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหากขายรถพิพาทได้ราคาต่ำกว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ส่วนที่ขาดให้โจทก์จนครบ หากขายได้ราคาไม่ต่ำกว่าก็ไม่ต้องรับผิดเมื่อปรากฏว่าโจทก์ขายรถพิพาทได้เงินสูงกว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจำเลยที่ ๑ ผู้เช่าซื้อจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีก แม้จำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันจะขาดนัดและมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ ๒ ด้วย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๕(๑) ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๗
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ด้วย