คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การเช่าทรัพย์อยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. ลักษณะเช่าทรัพย์หากจำเลยจะอ้างความคุ้มครองตามกฎหมายพิเศษก็ต้องยกขึ้นต่อสู้คดีได้เพราะ ป.วิ.พ. มาตรา 177 บัญญัติให้จำเลยแสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือบางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น เมื่อตามคำให้การของจำเลยไม่ได้อ้างสิทธิหรือความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านาฯ อันเป็นกฎหมายพิเศษขึ้นต่อสู้คดี จำเลยจะยกกฎหมายพิเศษดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย และบริวารออกไปจากที่นาที่จำเลยเช่าจากโจทก์พร้อมทั้งเรียกค่าเช่านาที่ค้างชำระ ค่าเสียหาย และดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทตามฟ้องที่พิพาทเป็นของจำเลยและสามี จำเลยและสามีจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้โจทก์เป็นการอำพรางนิติกรรมจำนอง โจทก์มีชื่อในโฉนดในฐานะตัวแทนจำเลยและนายสงวน จำเลยไม่เคยเช่าที่พิพาทจากโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 332/2526 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3372 ตำบลวัดไทรย์ อำเภอเมืองนครสวรรค์(อำเภอปากน้ำโพ) จังหวัดนครสวรรค์ ของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยชำระเงิน 22,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายปีละ 8,000 บาท นับแต่ปี พ.ศ. 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินโจทก์
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่านายเสน่ห์ ปั้นสุขสวัสดิ์ ไม่ใช่กรรมการควบคุมการเช่านาประจำอำเภอเมืองนครสวรรค์ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517จึงไม่มีอำนาจพิจารณาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บหรือการชำระค่าเช่านา ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 9(2)ศาลฎีกาเห็นว่า การเช่าทรัพย์อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะเช่าทรัพย์หากจำเลยจะอ้างความคุ้มครองตามกฎหมายพิเศษก็ต้องยกขึ้นต่อสู้คดีไว้เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 บัญญัติให้จำเลยแสดงโดยแจ้งชัดในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือบางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น เมื่อตามคำให้การของจำเลยไม่ได้อ้างสิทธิหรือความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 อันเป็นกฎหมายพิเศษขึ้นต่อสู้คดีจำเลยจะยกกฎหมายพิเศษดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาหาได้ไม่…”
พิพากษายืน.

Share