คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4247/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา199วรรคหนึ่งให้โอกาสจำเลยขออนุญาตยื่นคำให้การได้โดยมิได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนไว้เพียงแต่กำหนดว่าจำเลยจะต้องมาศาลเมื่อเริ่มต้นสืบพยานหรือแจ้งให้ศาลทราบก่อนเริ่มสืบพยานถึงเหตุที่จำเลยมิได้ยื่นคำให้การซึ่งจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การก่อนวันสืบพยานโจทก์อันเป็นวันเริ่มต้นสืบพยานจำเลยย่อมมีสิทธิทำได้โดยชอบแม้ว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยจะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม เมื่อจำเลยเพิ่งทราบเรื่องที่ถูกโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่25ตุลาคม2536ประกอบกับจำเลยได้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การต่อศาลในวันที่26ตุลาคม2536หลังจากทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเพียง1วันเท่านั้นพฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ในวันนัดชี้สองสถานโจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าหลังจากจดทะเบียนหย่าแล้วโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยมีข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินซึ่งตรงกับทรัพย์สินที่โจทก์อ้างว่าเป็นสินสมรสตามฟ้องเมื่อข้อแถลงดังกล่าวให้ข้อเท็จจริงซึ่งมีสาระสำคัญเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้วโดยไม่ต้องทำการสืบพยานโจทก์จำเลยอีกศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลยได้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงที่เกี่ยวกับเรื่องบุตรและสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยโดยโจทก์จำเลยประสงค์จะระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับสินสมรสที่มีอยู่หรือที่จะมีขึ้นต่อไปภายหน้าให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา850จึงเป็นสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับสินสมรสซึ่งโจทก์ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปโจทก์คงได้สิทธิใหม่ตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวตามมาตรา852เท่านั้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์สินอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2513 โจทก์จำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกัน 5 คน คือนางสาวสุกัญญา นายสุรเชษฐ นางสาวสุดารัตน์ นายดิสพงษ์และนายธนิต วันที่ 18 สิงหาคม 2519 โจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกัน และต่อมาได้จดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่31 พฤษภาคม 2528 โดยมีบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าว่าบุตรทั้งห้าคนให้อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ โดยจำเลยจะส่งค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์เพื่อเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 3,000บาท นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2528 จนกว่าบุตรทุกคนจะบรรลุนิติภาวะ และเรื่องทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส โจทก์และจำเลยไม่ประสงค์ให้เจ้าพนักงานบันทึกไว้ โจทก์จำเลยมีทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างการเป็นสามีภริยากันคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1035 คลองสะแก อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและที่ดินโฉนดเลขที่ 27998, 27999, 28000, 28001, 2800228003, 28006, 28007 รวม 8 โฉนด ซึ่งตั้งอยู่ตำบลบางรักอำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เงินฝากที่ธนาคารกสิกรไทย สาขาสะพานเหลือง สาขาพุทธมณฑลและสาขารังสิต กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่เมื่อโจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว จำเลยต้องแบ่งทรัพย์สินและเงินทั้งหมดซึ่งคิดเป็นเงินจำนวน 305,000,000 บาท ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง แต่จำเลยมิได้แบ่งให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์สินคือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่สามารถแบ่งให้แก่โจทก์ได้ให้จำเลยชำระเงินเท่าราคาทรัพย์สินแทนและให้จำเลยแบ่งเงินให้แก่โจทก์จำนวน 25,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ก่อนเริ่มสืบพยาน จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยอ้างว่าไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่าการขาดนัดของจำเลยมิได้เป็นไปโดยจงใจ จึงอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะทรัพย์สินตามฟ้องทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของจำเลยไม่ใช่สินสมรส ในขณะที่จดทะเบียนหย่าโจทก์จำเลยได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานว่าไม่ประสงค์ให้เจ้าพนักงานบันทึกเรื่องทรัพย์สินเพราะโจทก์จำเลยได้ตกลงแบ่งทรัพย์สินกันเรียบร้อยแล้ว หลังจากโจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่าแล้วได้ตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งสินสมรสและทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยาในวันที่ 31 กรกฎาคม 2529 โดยโจทก์และจำเลยต่างตกลงแบ่งทรัพย์สินทั้งหมดโดยวิธีประมูลราคาทรัพย์สินกันเองระหว่างโจทก์จำเลย แต่โจทก์เลือกเอาเงินจำนวน 7,000,000 บาทและทรัพย์สินอื่นอีกหลายรายการ เพราะที่ดินที่บางรักพร้อมสิ่งปลูกสร้างในขณะจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งสินสมรสและทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้นมีราคาตารางวาละ 30,000 บาท เนื้อที่ทั้งหมด 128ตารางวา คิดเป็นเงินเพียง 3,840,000 บาท โจทก์กับจำเลยยังได้ตกลงกันอีกว่าเงินที่โจทก์ได้รับไปนี้โจทก์จะต้องได้ส่วนแบ่งทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ส่วนตัวเป็นเงินจำนวน4,000,000 บาท โดยจำเลยได้มอบเช็คของธนาคารกสิกรไทยสาขาสะพานเหลือง เลขที่ 7545636 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2529จำนวนเงิน 3,750,000 บาท ให้โจทก์ ส่วนอีก 3,000,000 บาทแบ่งให้บุตรคนละ 600,000 บาท โดยนำฝากธนาคารกสิกรไทยและให้โจทก์เป็นผู้รับสมุดเงินฝากของธนาคารกสิกรไทยแทนบุตรทั้ง 5 คน และจำเลยยอมมอบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่โจทก์อีกหลายรายการซึ่งระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความจำนวน4 รายการ กับที่มิได้ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความอีกหลายรายการ เช่น จำเลยให้เงินแก่โจทก์ที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์อีก 2,500,000 บาท รถยนต์เบนซ์ 280 จำนวน 1 คัน ที่ดินที่บางคล้า 1 แปลง เนื้อที่ 55 ตารางวา สิทธิการเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ตำบลสำโรงใต้ โจทก์ยังตกลงกับจำเลยอีกว่าต่างหมดสิทธิเรียกร้องซึ่งกันและกันนับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ตีราคาที่ดินสูงกว่าความจริง และเงินฝากในธนาคารมีจำนวนไม่มากดังที่โจทก์ฟ้องทั้งเป็นเงินที่จำเลยหาได้มาหลังจากที่หย่ากับโจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 23 มิถุนายน2537 ว่า ภายหลังจากการจดทะเบียนหย่า โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 ไว้จริง และบ้านเลขที่ 66 ซอยวัดสวนพลูถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานครที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว คือที่ดินและบ้านตามฟ้องโจทก์ข้อ 3.2 ถึง 3.9 ส่วนที่ดินตามฟ้องโจทก์ข้อ 3.1 เดิมมีชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาโอนให้แก่บริษัทไทยเกรนนครหลวงจำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และบริษัทนี้คือบริษัทที่ปรากฎตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 14
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้อง คำให้การ และคำแถลงรับข้อเท็จจริงของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่าคดีสามารถวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องชี้สองสถานและสืบพยานต่อไปจึงให้งดการชี้สองสถานและการสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์ คำสั่ง และ คำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าเมื่อจำเลยยอมรับว่าบ้านเลขที่ 66 ซอยวัดสวนพลู แขวงบางรักเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เป็นภูมิลำเนาของจำเลย การที่เจ้าหน้าที่ศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่บ้านเลขที่ดังกล่าวโดยมีนายสุรเชษฐ นรนิธิวรรณ บุตรจำเลยซึ่งมีอายุเกิน 20 ปี และอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวรับหมายไว้แทน จึงเป็นการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยชอบแล้ว ที่จำเลยอ้างว่านายสุรเชษฐ์ไม่ยอมนำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องมาให้จำเลยนั้นไม่สมเหตุผลนอกจากนั้นจำเลยอ้างว่าพบหมายนัดในวันที่ 25 ตุลาคม 2536 ซึ่งนัดให้จำเลยไปศาลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 แต่จำเลยไม่ดำเนินการประการใดจนวันที่ 26 พฤศจิกายน 2536 แสดงว่าจำเลยไม่เอาใจใส่ในกระบวนพิจารณาของศาลแสดงถึงการจงใจขาดนัดยื่นคำให้การของจำเลยเห็นว่า กรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การนั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคแรกให้โอกาสจำเลยขออนุญาตยื่นคำให้การได้โดยมิได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนไว้เพียงแต่กำหนดว่าจำเลยจะต้องมาศาลเมื่อเริ่มต้นสืบพยาน หรือแจ้งให้ศาลทราบก่อนเริ่มสืบพยานถึงเหตุที่จำเลยมิได้ยื่นคำให้การ ซึ่งจำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การก่อนวันสืบพยานโจทก์อันเป็นวันเริ่มต้นสืบพยาน จำเลยย่อมมีสิทธิทำได้โดยชอบ แม้ว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยจะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อทางไต่สวนได้ความจากพยานจำเลยฝ่ายเดียวโดยโจทก์ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่า หลังจากจำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2528 แล้วจากนั้นโดยปกติจำเลยจะพักอยู่ที่บ้านเลขที่ 6/1 ถนนรามคำแหง 2ซึ่งอยู่ใกล้เคียงบริเวณที่จำเลยทำกิจการหอพักที่ถนนรามคำแหง 2จำเลยไปบ้านเลขที่ 66 ซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาในวันที่ 25 ตุลาคม2536 พบหมายนัดของศาลชั้นต้นที่นัดสืบพยานโจทก์ ณ วันที่ 1พฤศจิกายน 2536 จึงทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องคดี ทั้งนี้เพราะนายสุรเชษฐ์บุตรจำเลยซึ่งอยู่ในความปกครองของโจทก์และอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวเป็นผู้ลงนามรับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้แทนจำเลย แต่ไม่ยอมแจ้งให้จำเลยทราบ ซึ่งก็น่าเชื่อว่าเป็นไปได้ เพราะนายสุรเชษฐเป็นบุตรโจทก์และอยู่ในความปกครองของโจทก์ตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์กับจำเลย และสำเนาคำฟ้องดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีมีข้อพิพาท ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยเพิ่งทราบเรื่องที่ถูกโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2536 ประกอบกับจำเลยได้ยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การต่อศาลในวันที่ 26 ตุลาคม 2536 หลังจากทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเพียง 1 วัน เท่านั้น หาใช่เป็นวันที่26 พฤศจิกายน 2536 ดังที่โจทก์ฎีกาไม่พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การได้จึงชอบแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปมีว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการชี้สองสถานและการสืบพยานโจทก์จำเลยชอบหรือไม่เห็นว่า ในวันนัดชี้สองสถาน โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้วโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยมีข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินซึ่งตรงกับทรัพย์สินที่โจทก์อ้างว่าเป็นสินสมรสตามฟ้องข้อ 3.1ถึง 3.9 เมื่อข้อแถลงดังกล่าวให้ข้อเท็จจริงซึ่งมีสาระสำคัญเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้วโดยไม่ต้องทำการสืบพยานโจทก์จำเลยอีก การที่ศาลชั้นต้นงดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงชอบแล้ว
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาประนีประนอมยอมความลงวันที่31 กรกฎาคม 2529 เป็นเพียงสัญญาที่เกี่ยวกับการที่จำเลยตกลงให้โจทก์ไปหาที่อยู่ใหม่ ไม่เกี่ยวกับการแบ่งสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 150,000,000 บาท เพราะไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะยอมรับเงินสดจากจำเลยเป็นจำนวน 4,000,000บาท ในข้อนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์เอกสารสำเนาทะเบียนการหย่าท้ายฟ้องลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2528 ในข้อที่ 2 ระบุข้อความว่า”เรื่องทรัพย์สินทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์ให้บันทึก” แสดงว่าโจทก์จำเลยมุ่งประสงค์ตกลงแบ่งกันเอง ซึ่งปรากฎว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2529หลังวันจดทะเบียนหย่าเพียง 1 ปีเศษ ประกอบกับตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 23 มิถุนายน 2537 โจทก์จำเลยรับกันว่า ทรัพย์สินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 9 รายการตามที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งจากจำเลยครึ่งหนึ่งโดยโจทก์อ้างว่าเป็นสินสมรสนั้น ล้วนระบุอยู่ในสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งสิ้นโดยที่ดินตามฟ้องโจทก์ ข้อ 3.1 ตามเอกสารนำโฉนดที่ดินเลขที่1035 ท้ายฟ้องเดิม มีชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ต่อมาโอนให้บริษัทไทยเกรนนครหลวง จำกัด ซึ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 14 ปรากฎข้อความว่า โจทก์เป็นกรรมการในบริษัทดังกล่าวและโจทก์ยอมให้การเป็นกรรมการสิ้นสุดลงในวันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ ส่วนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องโจทก์ข้อ 3.2 ถึง 3.9 คือที่ดินกับบ้านเลขที่ 66ซอยวัดสวนพลู ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรักกรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์ยอมรับในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าโจทก์จะย้ายภูมิลำเนาและถิ่นที่อยู่พร้อมด้วยสินส่วนตัวออกไปจากบ้านดังกล่าวไปอยู่ที่อื่น จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับบุคคลใดภายในบ้านดังกล่าวอย่างเด็ดขาดไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้นโดยจำเลยจะยอมมอบเงินสดให้โจทก์ 7,000,000 บาท ในวันที่โจทก์ย้ายออกไปเสร็จสิ้นพร้อมกับมอบรถยนต์ปอเช่ 1 คันรถยนต์เฟี๊ยต 1 คัน อิเล็กโทนยามาฮ่า 1 ชุดและชุดรับแขกฝังมุก 1 ชุด ให้แก่โจทก์ด้วย อีกทั้งตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวยังมีข้อตกลงเกี่ยวกับบุตรของโจทก์จำเลยทั้ง 5 คนว่าจะให้อยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์จำเลยตกลงกันไว้ในบันทึกท้ายทะเบียนการหย่ากับมีข้อตกลงว่าเงินที่จำเลยจะให้โจทก์ 7,000,000 บาทดังกล่าวนั้น ให้เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของโจทก์ 4,000,000 บาทส่วนอีก 3,000,000 บาท ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของบุตรทั้ง 5 คนคนละ 600,000 บาท และจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูบุตรให้แก่โจทก์อีกต่อไปนับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งก็เป็นการยกเลิกข้อตกลงที่โจทก์จำเลยตกลงกันไว้ในบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าที่ว่าจำเลยจะส่งเงินค่าเลี้ยงดูบุตรให้แก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท ทุกเดือนจนกว่าบุตรทุกคนจะบรรลุนิติภาวะ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่เกี่ยวกับเรื่องบุตรและสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลย โดยโจทก์จำเลยประสงค์จะระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับสินสมรสที่มีอยู่หรือที่จะมีขึ้นต่อไปภายหน้าให้เสร็จไปด้วยต่างฝ่ายต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 หาใช่เป็นเพียงสัญญาที่เกี่ยวกับการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากบ้านเลขที่ 66 ดังโจทก์ฎีกา เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 เป็นข้อตกลงกันในเรื่องเกี่ยวกับสินสมรส จึงเป็นผลผลิตให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับสินสมรสซึ่งโจทก์ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปโจทก์คงได้สิทธิใหม่ตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852เท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์สินตามฟ้องอีก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน

Share