คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8686/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติมาตรา 65,66 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ไม่ได้บัญญัติให้ยกเลิกมิซซังโรมันคาธอลิคว่าไม่เป็นนิติบุคคล แต่ได้บัญญัติรับรองไว้ว่านิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น และนิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่ หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือ กำหนดไว้ในกฎหมายข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง
โจทก์เป็นมิซซังโรมันคาธอลิคเป็นนิติบุคคลอยู่ก่อนแล้วตามพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิคในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ.128 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษยังใช้บังคับจนปัจจุบันนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายอื่นฉบับหนึ่งตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 65โจทก์จึงย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอยู่ต่อไป

ย่อยาว

คดีทั้ง 29 สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษากับคดีหมายเลขดำที่ 160/2535, 195/2535 และ 999/2535 ของศาลชั้นต้นโดยให้เรียกจำเลยเรียงลำดับจากคดีหมายเลขดำที่ 159/2535 ถึง164/2535 ที่ 166/2535 ที่ 167/2535 ที่ 169/2535 ถึง 176/2535เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 ให้เรียกจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 187/2535ซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 172/2535 เป็นจำเลยที่ 12 เรียกจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 188/2535 ถึง191/2535 ที่ 195/2535 ที่ 197/2535 ถึง 200/2535 ที่ 222/2535ที่ 224/2535 เป็นจำเลยที่ 17 ถึงที่ 27 เรียกจำเลยร่วมในคดีหมายเลขดำที่ 195/2535 เป็นจำเลยที่ 28 เรียกจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 997/2535 และ 998/2535 เป็นจำเลยที่ 29 และที่ 30 เรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีหมายเลขดำที่ 999/2535 เป็นจำเลยที่ 31ถึงที่ 3 และเรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในคดีหมายเลขดำที่ 1000/2535เป็นจำเลยที่ 34 ถึงที่ 38 แต่ต่อมาศาลชั้นต้นสั่งแยกพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ 160/2535 เนื่องจากคู่ความตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ส่วนคดีหมายเลขดำที่ 195/2535 และ999/2535 ถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้ฎีกา คดีคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะ29 สำนวนนี้

โจทก์ทั้ง 29 สำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นวัดในศาสนาโรมันคาทอลิกและเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีพระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู เป็นประมุขมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์มอบอำนาจให้นายสาโรจน์ เล็กกระจ่างเป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ 1772 และ 8506 จำเลยทั้งหมดเข้ามาอยู่ในที่ดินโฉนดดังกล่าวของโจทก์ได้ในฐานะผู้เช่าที่ดินเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัยโดยจำเลยทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเว้นแต่จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 15 ที่ 23 ที่ 25 ไม่มีสัญญาเช่าที่ดิน สำหรับจำเลยที่ 34 ถึงที่ 38 เป็นบริวารของนายเล้งเพี้ยวหรือลิ่มเพียว แซ่โซว ซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้จำเลยทั้งหมดเช่าที่ดินอีกต่อไป จึงได้บอกกล่าวให้จำเลยทั้งหมดออกไปจากที่ดินของโจทก์แต่จำเลยทั้งหมดเพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งหมดเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ไม่สามารถนำที่ดินที่จำเลยแต่ละคนครอบครองอยู่ไปทำประโยชน์ได้ จึงขอคิดค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ในส่วนนี้ในอัตราตารางวาละ 10 บาทต่อเดือน ขอให้บังคับจำเลยทั้งหมดและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์โฉนดที่ 1772 และ 8506 พร้อมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินออกไปให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 20 ที่ 22 ถึงที่ 30 ที่ 34 และที่ 37 ให้การว่าโจทก์ไม่ใช่วัดตามกฎหมายจึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายย่อมไม่มีสิทธิและอำนาจฟ้องต่อศาล โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทั้งไม่ได้มีสิทธิยึดถือหรือครอบครองในที่ดินตามโฉนดที่โจทก์ฟ้องและในที่ดินแปลงที่จำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีที่โจทก์อ้างว่าที่ดินตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 20 ที่ 22 ถึงที่ 30 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นโดยการครอบครองปรปักษ์เพราะได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปีแล้ว จำเลยที่ 34ถึงที่ 38 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ที่พิพาทส่วนที่จำเลยแต่ละคนปลูกบ้านอยู่อาศัยอาจให้เช่าได้ไม่เกินปีละ 100 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 11ที่ 14 ถึงที่ 17 ที่ 19 ถึงที่ 29 และบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายออกไปจากที่ดินของโจทก์โฉนดที่ 1772 และ 8506 ให้จำเลยที่ 1ที่ 9 ที่ 17 ที่ 24 ที่ 25 ที่ 26 และที่ 29 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 200 บาทให้จำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 10 ที่ 16 ที่ 22 และที่ 27 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ100 บาท ให้จำเลยที่ 6 และที่ 8 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 150 บาทให้จำเลยที่ 11 และที่ 23 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 400 บาท ให้จำเลยที่ 14และที่ 15 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 300 บาท ให้จำเลยที่ 19 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 600 บาท และจำเลยที่ 20 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ ..00 บาทส่วนจำเลยที่ 21 และที่ 28 ให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 100 บาทแก่โจทก์ นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายออกไป ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ที่ 7 ที่ 12 ที่ 13 ที่ 18 และที่ 30 ถึงที่ 38

โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 11 ที่ 14 ถึงที่ 17ที่ 19 ที่ 20 ที่ 22 ถึงที่ 29 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 20ที่ 22 ถึงที่ 38 และบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากที่ดินของโจทก์โฉนดที่ 8506 และให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 150 บาท จำเลยที่ 7 เดือนละ 200 บาท จำเลยที่ 12 เดือนละ500 บาท จำเลยที่ 13 เดือนละ 100 บาท จำเลยที่ 18 และที่ 30 เดือนละ150 บาท จำเลยที่ 31 ถึงที่ 33 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 100 บาทและจำเลยที่ 34 ถึงที่ 38 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเดือนละ 150 บาท แก่โจทก์นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยดังกล่าวและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 6 ที่ 9 ที่ 10ที่ 15 และที่ 26 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 20 ที่ 22 ถึงที่ 27 ที่ 29 ที่ 30 และที่ 34 ฎีกาโดยจำเลยที่ 4 ที่ 7 ที่ 12 ที่ 13 ที่ 18 ที่ 30 และที่ 34 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีทั้ง 29 สำนวนนี้ เป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยผู้ฎีกาทุกสำนวนออกจากอสังหาริมทรัพย์ อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง คงฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งและที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 1772 และ 8506 ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเดิมอยู่ในโฉนดที่ 1772 ต่อมาเมื่อปี 2510 โจทก์ได้แบ่งแยกและได้โฉนดที่ดินใหม่คือโฉนดที่ 8506 จำเลยผู้ฎีกาทุกคนเว้นแต่จำเลยที่ 1 ที่ 4ที่ 15 ที่ 23 และที่ 25 ได้มาเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวโดยทำสัญญาเช่าด้วยตนเอง แต่จำเลยที่ 30 ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าแทนผู้เช่า ที่ดินพิพาทที่จำเลยผู้ฎีกาทุกคนอยู่อาศัย อยู่ในเขตที่ดินโฉนดที่ 8506 ของโจทก์ และโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยผู้ฎีกาทุกคนออกจากที่ดินพิพาทโดยชอบแล้ว

ปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าในกรณีที่เดิมจำเลยผู้ฎีกาให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ แต่ได้สละข้อต่อสู้นั้นในชั้นอุทธรณ์แล้ว จะยังคงถือว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ในเมื่อชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้ต่อสู้กรรมสิทธิ์แล้วย่อมไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยในเรื่องกรรมสิทธิ์ในชั้นอุทธรณ์อีก จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ จำเลยไม่จำต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ และถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำนวนทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาเป็นอย่างเดียวกับในศาลชั้นต้น ซึ่งผู้อุทธรณ์หรือผู้ฎีกาต้องเสียตามจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาเดียวกับในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 วรรคสอง ศาลฎีกาต้องสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยที่ยอมเสียเพิ่มตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 อันได้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 ที่ 11 ที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 22 ถึงที่ 25และที่ 27 ถึงที่ 29 รวมทั้งค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาสำหรับจำเลยเหล่านี้ที่มิได้ขอฎีกาอย่างคนอนาถาและต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนของโจทก์ที่ยอมเสียเพิ่มตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ด้วย เพราะไม่มีเหตุที่จะเรียกเพิ่มจากโจทก์ได้เช่นกัน แต่สำหรับจำเลยที่ไม่ยอมเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มอันได้แก่จำเลยที่ 6 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 15 และที่ 26 นั้นเมื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ให้เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มย่อมถือได้ว่าเป็นการทิ้งคำฟ้องอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 6 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 15 และที่ 26 จึงชอบแล้วเนื่องจากว่าแม้จำเลยที่ 6 ที่ 9 ที่ 10 ที่ 15 และที่ 26 จะไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ให้เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มก็ตาม จำเลยที่ 6 ที่ 9ที่ 10 ที่ 15 และที่ 26 ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2ไปก่อน แล้วจึงฎีกาขอคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ดังเช่นจำเลยอื่น ๆ ที่ยอมเสียเพิ่มไปก่อนได้

ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง จำเลยผู้ฎีกาต่างให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ แต่ในชั้นฎีกาจำเลยก็มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาแต่อย่างใด โดยจำเลยได้สละประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ไปตั้งแต่ในชั้นอุทธรณ์แล้ว แต่จำเลยกลับอ้างในฎีกาว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นที่ดินในเขตชลประทานของกรมชลประทาน อันเป็นข้อที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ในปัญหาว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิคในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ.128 ข้อ 1 บัญญัติว่า”คณะโรมันคาธอลิคในกรุงสยามนี้ไม่เลือกว่ามิซซังแลบาดหลวงจะเป็นคนชาติภาษาใด ๆ ได้รับอนุญาตตามกฎหมายฝ่ายสยาม ให้เป็นบริษัทอันหนึ่งเฉพาะวิการิโอ อาปอสตอลิโกแห่งหนึ่ง เพื่อให้มีอำนาจถือที่ดินสำหรับประโยชน์มิซซัง ตามข้อความที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้”

และข้อ 2 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง บัญญัติว่า “วิการิอาโต อาปอสตอลิโกนั้น ต่อไปในภายหลังเรียกว่า บิสชอปริก ฤา มิซซัง

วิการิโอ อาปอสตอลิโก ที่โป๊ปได้แต่งตั้งมาให้เป็นผู้ใหญ่ผู้หนึ่งในบิสชอปริกแห่งหนึ่ง และถ้าไม่มีตัวอยู่ผู้บัญชาการในมิซซังนั้นเป็นผู้แทนบริษัทของบิสชอปริก ฤา มิซซัง เหมือนอย่างบริษัทที่บุคคลรวมกันทำการได้อันหนึ่ง”

ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวได้ระบุให้มิซซังมีฐานะเป็นบริษัท ดังนั้น โจทก์จึงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายซึ่งพระคาร์ดินัลมีชัยกิจบุญชูเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องที่จำเลยฎีกาว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 65, 66 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ได้ยกเลิกบทบัญญัติในมาตรา 72 เดิมแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทำให้นิติบุคคลประเภทวัดวาอารามหรือมิซซังโรมันคาทอลิกไม่ถือว่าเป็นนิติบุคคลต่อไปนั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 65, 66 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ไม่ได้บัญญัติให้ยกเลิกมิซซังโรมันคาธอลิคว่าไม่เป็นนิติบุคคลแต่อย่างใดแต่ได้บัญญัติรับรองไว้ว่านิติบุคคลจะมีขึ้นได้ก็แต่ด้วยอาศัยอำนาจแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น และนิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่ หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมายข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง เมื่อโจทก์เป็นมิซซังโรมันคาธอลิคเป็นนิติบุคคลอยู่ก่อนแล้วตามพระราชบัญญัติว่าด้วยลักษณะฐานะของวัดบาดหลวงโรมันคาธอลิคในกรุงสยามตามกฎหมาย ร.ศ.128 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษยังใช้บังคับจนปัจจุบันนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายอื่นฉบับหนึ่งตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 65 โจทก์จึงย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอยู่ต่อไป”

พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่โจทก์เสียเกินมาจำนวน 14,770.62 บาท แก่โจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยเสียเพิ่มมาจำนวน 60,880 บาท แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 ที่ 11ที่ 14 ที่ 16 ที่ 17 ที่ 19 ที่ 20 ที่ 22 ถึงที่ 25 และที่ 27 ถึงที่ 29 รวมทั้งค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนที่จำเลยดังกล่าวเสียเกินมาด้วย ค่าทนายความชั้นฎีกาทุกสำนวนให้เป็นพับ

Share