แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่มารดาปกครองทรัพย์สินไว้แทนบุตร์อายุความในเรื่องปกครองปรปักษ์ย่อมเริ่มนับแต่วันที่บุตร์บรรลุนิติภาวะเป็นต้นไป ถ้าปกครองมายังไม่ครบ 9 ปี (ในกรณีที่เป็นเรื่องที่ดินมารดายังไม่ได้กรรมสิทธิ) อายุความตาม ม.183 -184 ประมวลแพ่ง ฯ นั้นเป็นเรื่องขยายอายุความให้แก่ผู้เยาว์ในการใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ปกครอง เพราะเหตุที่อายุความได้ครบกำหนดหรือเกือบจะครบกำหนดแล้วก่อนผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ จึงให้อายุความยึดออกไปอีก 1 ปีนับแต่เมื่อบรรลุนิติภาวะ
ย่อยาว
เดิมจำเลยแพ้ความโจทก์ ๆ จึงนำยึดที่นาแห่งหนึ่ง ผู้ร้องทั้ง ๒ ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่าที่นาที่ยึดเป็นของตน ข้อเท็จจริงได้ความว่าที่นารายนี้เดิมเป็นของ ส. สามีนางปานผู้ร้อง และบิดาของนายแอ๊ ผู้ร้อง นางปานเป็นมารดานายแอ๊ ครั้น ส. ตายนางปานได้เข้าปกครองทำประโยชน์ในนารายนั้นแทนนายแอ๊ ต่อมานางปานได้จำเลยเป็นสามีและทั้ง ๒ คนได้เข้าจัดการในที่รายนี้เรื่อย ๆ มาเช่นแบ่งขายฝากให้ผู้อื่นไปคงเหลืออยู่เท่าที่โจทก์นำยึด
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินว่านายแอ๊หมดสิทธิเรียกร้องที่พิพาทเอาจากจำเลยและนางปานได้ เพราะนายแอ๊รู้อยู่ว่าตนได้รับมฤดกนารายนี้ตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี จนเวลานี้อายุ ๒๙ แล้ว คดีขาดอายุความตาม ม.๑๘๓ -๑๘๔ นารายนี้ตกเป็นสินบริคณห์ระหว่างจำเลยกับนางปานโจทก์มีสิทธิยึดได้
ศาลฎีกาตัดสินว่าการกระทำของจำเลยและนางปานระหว่างนายแอ๊เป็นผู้เยาว์นั้นตามหลักจะอ้างอำนาจปรปักษ์ต่อผู้เยาว์มิได้เรื่องนี้นับแต่วันที่นายแอ๊จึงยังไม่ขาดกรรมสิทธิและคดีไม่เข้า ม.๑๘๓-๑๘๔ แห่งประมวลแพ่ง ฯ เพราะมาตราทั้ง ๒ เป็นเรื่องขยายอายุความให้ผู้เยาว์ใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ปกครองในเมื่ออายุความที่จะครบแล้ว ก่อนผู้เยาว์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงพิพากษาว่าที่นายังเป็นของนายแอ๊อยู่ ให้ถอนการยึดที่นาคืนให้นายแอ๊ไป