คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 170/2479

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ.ม.162 คำสั่งกระทรวงยุติธรรมลงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2468
กำหนดเวลาทำงานตามปกติของศาลในระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ. 2478 นั้นตั้งต้นแต่ 11ถึง13 นาฬิกา ผู้จะมาทำการติดต่อกับศาลต้องมาภายในกำหนดข้างบนนั้น
วิธีกำหนดให้คู่ความเสียค่าธรรมเนียม

ย่อยาว

ได้ความว่าจำเลยแพ้ความโจทก์ศาลได้อ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ ปรากฎตามรายงานจ่าศาลว่า เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๘ เวลา ๑๓ นาฬิกาเศษ ศาลได้ปิดที่ทำการแล้ว ผู้แทนจำเลยได้นำฟ้องอุทธรณ์ไปยื่นต่อจ่าศาลที่บ้าน พร้อมกับเงินค่าธรรมเนียม ๑๐๐ บาท จ่าศาลรับไว้นัดให้ไปฟังคำสั่งในวันรุ่งขึ้น ครั้นรุ่งขึ้นปรากฎว่าค่าธรรมเนียมขาด ๓๐ บาท ๕๐ สตางค์ จำเลยก็เสียให้จนครบ จ่าศาลทำรายงานลงวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ เสนอผู้พิพากษาๆ สั่งรวมเรื่องไว้ อุทธรณ์นั้นสั่งให้รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์เสียอ้างว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์พ้นกำหนด ๑ เดือน
ศาลฎีกาตัดสินว่าจะฟังเอารายงานของจ่าศาลมาเป็นประมาณมิได้เพราะจำเลยมิได้ลงชื่อด้วยทั้งจำเลยก็คัดค้านอยู่ว่ารายงานของจ่าศาลไม่ตรงต่อความจริง จึงพิพากษาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทำการสอบสวนใหม่ว่าความจริงเป็นเช่นไร แล้วจัดการต่อไปตามกระบวนความ เพราะถ้าปรากฎว่าจำเลยได้นำอุทธรณ์มายื่นเวลา ๑๒ นาฬิกาเศษ ถ้าเป็นจริงดังจำเลยว่าก็ต้องถือว่าจำเลยนำอุทธรณ์มายื่นภายในกำหนดอายุความเมื่อศาลไม่มีคนคอยอยู่รับอุทธรณ์ก็เป็นความบกพร่องของศาลส่วนหนึ่ง จะยกเอาความบกพร่องของศาลไปถอนอายุความของจำเลยมิได้ แต่ถ้าความเป็นจริงดังรายงานจ่าศาลก็ต้องถือว่าอุทธรณ์ของโจทก์ขาดอายุความ เพราะเวลาทำงานตามปกติของศาลสำหรับเวลานั้นเริ่มแต่ ๑๑-๑๓ นาฬิกาตามคำสั่งกระทรวงยุตติธรรมลงวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ส่วนค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นดังนี้ คือถ้าการพิจารณาใหม่ได้ความว่าการยื่นอุทธรณ์ไม่ถูกต้องก็ให้เป็นภัพแก่จำเลย ถ้าการยื่นถูกก็ให้ผู้แพ้คดีในที่สุดเป็นผู้เสีย

Share