คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้สละมรดกโดยแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 สละมรดก และวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างได้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินร่วมกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดก ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์มรดกได้ แม้จะล่วงเลยอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสี่ประกอบมาตรา 1748 วรรคแรก แล้วก็ตามแต่โจทก์กลับฎีกากล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยกำหนดอายุความ 10 ปีแล้วแม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้สละมรดกตามกฎหมาย จำเลยที่ 2และที่ 3 ก็ไม่อาจเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกได้ ฎีกาของโจทก์เช่นนี้ไม่ได้กล่าวโต้แย้งหรือคัดค้านว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1323/2529 ของศาลชั้นต้น โดยเรียกนางณีพงษ์ประเสริฐ โจทก์ในคดีดังกล่าวเป็นจำเลยที่ 3 และเรียกนางเชื้อ ชูศรี จำเลยในคดีดังกล่าวเป็นโจทก์ แต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 1 กับนายทัน แป้นแก้ว ฟ้องขอให้โจทก์แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 6702 เนื้อที่ 40 ไร่ 3 งาน69 ตารางวา (ที่ถูก 9 ตารางวา) ตำบลเนินมะกอก อำเภอพยุหะคีรีจังหวัดนครสวรรค์ ของนางริด แป้นแก้ว เจ้ามรดก ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนั้นแบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 และนายทัน คนละ 1 ใน 5 ส่วน ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางริด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ไม่จัดการแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวและจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันฉ้อฉลโจทก์โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นขอให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินของนางริดแปลงดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิรับมรดกของนางริด ส่วนจำเลยที่ 3 ก็ได้สละสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกรายนี้แล้ว และสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ก็ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยไม่แจ้งเรื่องที่ถูกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟ้องให้โจทก์ทราบด้วย แล้วจำเลยที่ 1ก็รีบจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงในโฉนดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการฉ้อฉลโจทก์ เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีส่วนจะได้รับทรัพย์มรดกที่ดินแปลงนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นการนอกเหนืออำนาจผู้จัดการมรดกและศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งเพิกถอนจำเลยที่ 1 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนางริดเจ้ามรดกแล้ว ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดแปลงดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งสาม ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดดังกล่าวต่อศาลเพื่อสั่งให้จำเลยที่ 1 หรือโจทก์ไปจัดการเพิกถอนนิติกรรมและจดทะเบียนโอนมรดกให้โจทก์ต่อไป
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เดิมโจทก์และจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางริดร่วมกัน แต่ครั้นถึงวันนัดไต่สวนคำร้องโจทก์บิดพริ้ว ไม่ยอมเป็นผู้จัดการมรดกร่วม ศาลจึงมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกแต่ผู้เดียว เมื่อจำเลยที่ 1ถูกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ และการที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่ทำให้โจทก์เสียหาย เพราะจำเลยที่ 2และที่ 3 มีสิทธิรับมรดกรายนี้อยู่แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกัน นางริดเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1702 และมีทายาท 5 คน คือนายฉิม แป้นแก้ว นายหริ แป้นแก้ว นางณี จำเลยที่ 3 นางปี(ที่ถูกนางจำปี) พุทธวงศ์ และโจทก์ซึ่งทายาททุกคนต่างก็ได้ครอบครองที่ดินแปลงนี้ร่วมกันตลอดมา และจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายฉิมซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับมรดกแทนที่นายฉิมและมีสิทธิรับมรดกของนางริด จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงมีสิทธิรับมรดกรายนี้คนละเป็นจำนวน 1 ใน 5 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ 60 ตารางวา แต่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางริดตามคำสั่งศาลไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกให้จำเลยที่ 2 และที่ 3จึงต้องฟ้องคดีต่อศาลและจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยชอบด้วยกฎหมาย และตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยที่ 1 จึงใส่ชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงในโฉนดที่ดินแปลงนี้ได้ และเฉพาะจำเลยที่ 3ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 3 ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกภายในกำหนดอายุความ10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงไม่ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์นำโฉนดที่ดินที่ 6702ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนรับทรัพย์มรดก 1 ใน 5 ส่วน คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1323/2519ของศาลชั้นต้นให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 3 เป็นเงินปีละ2,400 บาท นับแต่วันฟ้อง (25 กันยายน 2528) เป็นต้นไป จนกว่าโจทก์และบริวารจะออกจากที่ดินของจำเลยที่ 3 ตามฟ้องคำขอของจำเลยที่ 3นอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอจำเลยที่ 3 ที่ขอให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการนำสืบรับกับของโจทก์และจำเลยทั้งสาม กับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านฟังเป็นยุติว่านางริดหรือลิดหรือลิตเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ 40 ไร่ 3 งาน 9 ตารางวา และมีทายาท 5 คน คือนายฉิม นางหริ นางณี จำเลยที่ 3 นางจำปีและนางเชื้อ โจทก์ ต่อมานายฉิม นายหริ และนางจำปี ถึงแก่กรรมและมีทายาทรับมรดกแทนที่ คือนายสนม จำเลยที่ 2 นายทันและนางสมศรีจำเลยที่ 1 ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางลิดจึงมีรวมทั้งสิ้น 5 คน ได้แก่ โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และนายทันก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 และนายทันได้ฟ้องโจทก์ขอแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินแปลงนี้ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินแปลงนี้แก่จำเลยที่ 1 และนายทันคนละ 1 ใน 5 ส่วน ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางริดภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกขอให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2และที่ 3 คนละ 1 ใน 5 ส่วน ศาลได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้จำเลยที่ 1 แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินแก่จำเลยที่ 2และที่ 3 คนละ 1 ใน 5 ส่วน จำเลยที่ 1 จึงได้ดำเนินการใส่ชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์คนละ 1 ใน 5 ส่วนในโฉนดที่ดิน
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 615/2527 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่616/2527 ของศาลชั้นต้นนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้สละมรดกและฟ้องเกิน 10 ปีคดีขาดอายุความแล้ว ดังนั้น ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยจำเลยที่ 1 ยินยอมแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ใน 5 ส่วน โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบก่อนเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการสละมรดกต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้แสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือว่าขอสละมรดกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่ายอมสละมรดกจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 สละมรดกและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต่อไปว่าทรัพย์มรดกที่ดินรายพิพาท โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างได้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินร่วมกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1แบ่งทรัพย์มรดกรายพิพาทนี้ได้ แม้จะล่วงเลยอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสี่ ประกอบมาตรา1748 วรรคแรก แต่ฎีกาของโจทก์กล่าวอ้างเพียงว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาจนถึงวันฟ้องเกิน 10 ปีแล้ว นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย คดีจึงขาดอายุความ ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่ได้สละมรดกตามกฎหมายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่อาจเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกได้ ดังนี้ เห็นว่าฎีกาของโจทก์เช่นว่านี้ไม่ได้กล่าวโต้แย้งหรือคัดค้านว่า ข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ฎีกาของโจทก์จึงไม่ชัดแจ้งและไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเป็นยุติว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้สละมรดกและที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกให้แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ใน 5 ส่วน ตามสิทธิที่จะได้คดีไม่ขาดอายุความ กับที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญายอมความแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามส่วนที่พึงจะได้รับนั้นจึงมีสิทธิที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและการกระทำเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องแจ้งแก่โจทก์ก่อน
พิพากษายืน

Share