คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้แก่ธนาคารโจทก์ จำเลยทั้งห้าจึงเป็นลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 ดังนั้นโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเลือกบังคับให้ลูกหนี้คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 ออกขายทอดตลาด แต่ต่อมาได้ขอให้ถอนการบังคับคดีเพราะจำเลยที่ 4 ได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์แล้ว จึงเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกให้จำเลยที่ 4 ชำระหนี้บางส่วนตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แม้ต่อมาจำเลยที่ 4 จะนำทรัพย์ดังกล่าวไปขายต่อให้ผู้อื่นและทำให้จำเลยที่ 3 ต้องถูกยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ที่เหลือ ก็หาใช่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตของโจทก์แต่อย่างใดไม่ ส่วนการที่โจทก์ยอมปล่อยทรัพย์ของจำเลยที่ 4 ที่ถูกยึดขายทอดตลาดไปทั้งที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง ก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนอันจะมีผลให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดไม่ดังนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ครบถ้วน โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาที่เหลือได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ยืมและค้ำประกันจำนวน 1,409,309.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งห้าขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 1,409,309.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (12 มกราคม 2536)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท จำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 ระหว่างประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 โจทก์ได้รับชำระหนี้บางส่วนจากจำเลยที่ 4 และได้ขอถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 ต่อมาโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ขายทอดตลาด

จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจที่จะแบ่งแยกจำนวนหนี้ให้จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดคนละส่วน เนื่องจากจำเลยทั้งห้าต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและการที่โจทก์ถอนการยึดทรัพย์ให้จำเลยที่ 4 เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3ขายทอดตลาดอีกเป็นการไม่ชอบ ขอให้ศาลนัดไต่สวนและมีคำสั่งยกเลิกการบังคับคดีหรืองดการบังคับคดีคืนทรัพย์ที่ยึดให้จำเลยที่ 3 ต่อไป

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากจำเลยที่ 4 แต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก จำเลยที่ 3 ในฐานะลูกหนี้ร่วมยังคงผูกพันอยู่จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 291 ให้ยกคำร้อง

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยทั้งห้าไม่ชำระ โจทก์จึงนำยึดทรัพย์อันได้แก่ที่ดินของจำเลยที่ 4 ออกขายทอดตลาด ต่อมาโจทก์ยื่นคำแถลงขอถอนการบังคับคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 เนื่องจากจำเลยที่ 4 ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์บางส่วนแล้ว หลังจากนั้นโจทก์ได้นำยึดที่ดินของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ที่เหลือ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า การที่โจทก์นำยึดที่ดินของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งห้าจึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทำการชำระหนี้โดยทำนองซึ่งแต่ละคนจำต้องชำระหนี้สิ้นเชิงไซร้…เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิง” ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเลือกบังคับให้ลูกหนี้คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนก็ได้ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 4 ออกขายทอดตลาด แต่ภายหลังได้ขอให้ถอนการบังคับคดีโดยอ้างว่าจำเลยที่ 4 ได้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์แล้ว จึงเป็นการที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมชำระหนี้บางส่วนตามบทกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ แม้ต่อมาจำเลยที่ 4 จะนำทรัพย์ดังกล่าวไปขายต่อให้ผู้อื่นและทำให้จำเลยที่ 3 ต้องถูกยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ที่เหลือ ก็หาใช่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริตของโจทก์แต่อย่างใดไม่ ส่วนที่โจทก์ยอมปล่อยทรัพย์ของจำเลยที่ 4 ที่ถูกยึดขายทอดตลาดไปทั้งที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิงก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนอันจะมีผลให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดดังที่จำเลยที่ 3 ฎีกา เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ครบถ้วน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมออกขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาที่เหลือได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 3 โดยไม่ไต่สวนคำร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share