คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4636/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติมาตรา 90/6 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า คำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีสาระสำคัญประการหนึ่งที่จะต้องแสดงในคำร้องขอ ก็คือผู้ร้องขอจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ทั้งหลายด้วยเหตุที่ว่า เมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอแล้วให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบ ตามมาตรา 90/9 วรรคหนึ่ง เพื่อเจ้าหนี้อาจยื่นคำคัดค้านตามมาตรา 90/9 วรรคสาม และเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายไม่น้อยกว่า 2 ฉบับ ตามมาตรา 90/20 วรรคสี่ นอกจากนั้นยังต้องแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อที่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เสนอต่อศาลและเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบ ตามมาตรา 90/24 วรรคสอง และวรรคสาม เพื่อให้เจ้าหนี้เหล่านั้นยื่นคำขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 90/26
ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้สั่งซื้อจากเจ้าหนี้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2543 ต่อมาวันที่ 12 เมษายน 2544 ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการแต่มิได้ระบุชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้รายนี้ในบัญชีเจ้าหนี้ที่เสนอต่อศาล ทั้งที่ลูกหนี้ทราบชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ในขณะยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการเป็นอย่างดีแล้ว นอกจากนั้นหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มีการเจรจาเรื่องการชำระหนี้สินระหว่างกันเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2544 ที่เมืองย่างกุ้ง สหภาพพม่า การที่ลูกหนี้ละเลยไม่ระบุชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ในบัญชีเจ้าหนี้ จึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 90/6 เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้เพราะเป็นเหตุให้ศาลไม่อาจส่งสำเนาคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการแก่เจ้าหนี้ ตามมาตรา 90/9 วรรคหนึ่ง และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาเสนอคำขอรับชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ทราบได้ ตามมาตรา 90/24 วรรคสองและวรรคสาม เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ทราบคำสั่งตั้งผู้ทำแผน และกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ก่อนหน้านี้ กรณีจึงมีเหตุตามกฎหมายที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกินกำหนด 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนไว้พิจารณา

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๔
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่รับคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าว อ้างว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้พ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๙๐/๒๖ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๑๔๘๓
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ลูกหนี้จงใจปกปิดรายชื่อเจ้าหนี้โดยมิได้ระบุไว้ในบัญชีเจ้าหนี้ขณะยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน ๑ เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามมาตรา ๙๐/๒๖ ขอให้มีคำสั่งรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้พิจารณาต่อไป
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้มีว่า มีเหตุตามกฎหมายที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า เจ้าหนี้หรือลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ นั้น ต้องดำเนินการตามมาตรา ๙๐/๖ ซึ่งบัญญัติเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า คำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีสาระสำคัญที่จะต้องแสดงในคำร้องขอก็คือผู้ร้องขอจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ทั้งหลาย เพื่อที่ว่าเมื่อศาลสั่งรับคำร้องขอแล้วให้ส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบตามมาตรา ๙๐/๙ วรรคหนึ่ง เจ้าหนี้อาจยื่นคำคัดค้านตามมาตรา ๙๐/๙ วรรคสาม และเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษาและหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายไม่น้อยกว่า ๒ ฉบับ ตามมาตรา ๙๐/๒๐ วรรคสี่ นอกจากนั้นยังต้องแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อที่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เสนอต่อศาลและเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบ ตามมาตรา ๙๐/๒๔ วรรคสอง และวรรคสาม เพื่อให้เจ้าหนี้เหล่านั้นยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๙๐/๒๖ วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามคำร้องขอของลูกหนี้เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๔ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โฆษณาคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและคำสั่งตั้งผู้ทำแผนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ แต่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๔ โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่าลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้าซึ่งลูกหนี้ได้สั่งซื้อจากเจ้าหนี้เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๔ ลูกหนี้ย่อมทราบชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ในขณะยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการเป็นอย่างดีแล้ว นอกจากนั้นหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มีการเจรจาเรื่องการชำระหนี้สินระหว่างกันเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๔ ที่เมืองย่างกุ้ง สหภาพพม่า ดังนั้น การที่ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการโดยมิได้ระบุชื่อและที่อยู่ของเจ้าหนี้ในบัญชีเจ้าหนี้ จึงเป็นการจงใจปกปิดรายชื่อเจ้าหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๙๐/๖ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้เพราะเป็นเหตุให้ศาลไม่อาจส่งสำเนาคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการแก่เจ้าหนี้ตามมาตรา ๙๐/๙ วรรคหนึ่ง และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้เสนอคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตามมาตรา ๙๐/๒๔ วรรคสองและวรรคสาม เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ทราบคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ก่อนหน้านี้ กรณีมีเหตุตามกฎหมายที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๔ ไว้พิจารณา ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลล้มละลายกลางไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้พิจารณานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไว้ดำเนินการต่อไปตามมาตรา ๙๐/๒๖ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share