คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4088/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 9 และมาตรา 10 ให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา 6 (5) ที่ร้องขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นจะมีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องได้ แต่หากเป็นบุคคลตามมาตรา 6 (1) ถึง (4) เป็นผู้ร้องแล้ว ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจที่จะสั่งรับคำร้องให้ดำเนินคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่หรือยกคำร้อง ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ดำเนินการตามมาตรา 9 วรรคสอง ทำการไต่สวนคำร้องหรือหากเห็นว่าคำร้องไม่ชอบด้วยมาตรา 5 จะไม่ทำการไต่สวนก็ได้ แต่ศาลชั้นต้นมีสิทธิเพียงทำความเห็นเสนอสำนวนการไต่สวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา การสั่งรับคำร้องให้พิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่หรือสั่งให้ยกคำร้องเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ ซึ่งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวนี้เป็นที่สุดตามมาตรา 10 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายเกอมิท ซิง จาสวาล ผู้ร้อง เป็นจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ คดีถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าผู้ร้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง , ๖๖ วรรคสอง และมาตรา ๖๕ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ การกระทำของผู้ร้องเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๕ วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ ฐานส่งเฮโรอีนออกนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้ประหารชีวิต ผู้ร้องให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ และมาตรา ๕๒ คงจำคุกตลอดชีวิต ให้ริบของกลาง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๕๖๗๐/๒๕๓๘ ของศาลชั้นต้น
เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๑ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี ซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดแสดงว่าผู้ร้องไม่ได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๖ มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ต่อมาวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๓ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่อีก โดยอ้างเหตุว่าพยานบุคคลของโจทก์เบิกความเท็จในทำนองปรักปรำผู้ร้องโดยปราศจากมูลความจริง ทั้งพยานเอกสารก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บัดนี้ผู้ร้องมีพยานใหม่ที่จะนำสืบให้เห็นว่าพยานโจทก์เป็นพยานเท็จอย่างไร และคำรับสารภาพของผู้ร้องในชั้นจับกุมก็เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ร้องขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นพิจารณาใหม่อ้างเหตุผลสรุปได้ว่า พยานบุคคลที่โจทก์นำมาสืบเป็นพยานเท็จเบิกความปรักปรำผู้ร้อง พยานเอกสารต่าง ๆ มีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ของกลางในคดีไม่ใช่เฮโรอีน และคำร้องอ้างด้วยว่าผู้ร้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่จะนำมาสืบว่าพยานโจทก์ที่เบิกความไปแล้วเบิกความเท็จอย่างไร โดยผู้ร้องได้ยื่นบัญชีระบุพยานมาด้วย แต่ผู้ร้องไม่ได้บรรยายมาในคำร้องให้ละเอียดชัดแจ้งว่าพยานบุคคลแต่ละคนเป็นพยานใหม่อันชัดแจ้งอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร กล่าวคือ ไม่ได้ระบุว่าพยานบุคคลแต่ละคนเป็นใคร มีความเป็นมาอย่างไร มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือไม่อย่างไร จะมาเบิกความในเรื่องใดที่พอจะให้เห็นได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญในคดี ซึ่งถ้าได้นำมาสืบแล้วจะแสดงได้ว่าผู้ร้องไม่ได้กระทำความผิดคดีนี้ ผู้ร้องยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามที่พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๕ (๓) , ๘ วรรคสอง คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลไม่อาจรับคำร้องไว้ทำการไต่สวนต่อไปได้ มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๑๘ บัญญัติว่า “คำร้องเกี่ยวกับผู้ต้องรับโทษอาญาคนหนึ่งในคดีหนึ่งให้ยื่นได้เพียงครั้งเดียว” ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามสำนวนว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาคดีนี้ขึ้นพิจารณาใหม่มาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๑ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องมิได้อุทธรณ์ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องประการใด คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงถึงที่สุดไปแล้ว ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาคดีนี้ขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้อีก ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยในผล พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๖ มีเจตนารมณ์ที่จะให้ความยุติธรรมแก่บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดมีสิทธิขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในภายหลัง หากปรากฏหลักฐานขึ้นใหม่ว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้กระทำความผิด และกำหนดให้มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนและได้รับบรรดาสิทธิที่เสียไปเพราะผลแห่งคำพิพากษานั้นคืน หากปรากฏตามคำพิพากษาของศาลที่พิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ว่าบุคคลผู้นั้นมิได้กระทำความผิด ทั้งนี้บุคคลผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีดังกล่าวตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๘ โดยคำร้องต้องเป็นไปตามหลักเงื่อนไขในมาตรา ๕ แต่การที่ศาลชั้นต้นจะพิจารณาคดีที่ร้องขอให้รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ตามคำร้องของผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดได้หรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “ให้ศาลที่ได้รับคำร้องทำการไต่สวนคำร้องนั้นว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่หรือไม่ เว้นแต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นผู้ร้อง ศาลจะไต่สวนคำร้องหรือไม่ก็ได้ ถ้าเห็นว่าไม่จำเป็นต้องไต่สวนคำร้อง ก็ให้ศาลสั่งรับคำร้องและดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป คำสั่งของศาลในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด” มาตรา ๙ วรรคสอง บัญญัติว่า “ในการไต่สวนคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลส่งสำเนาคำร้องและแจ้งวันนัดไต่สวนไปให้โจทก์ในคดีเดิมทราบ ในกรณีที่โจทก์ในคดีเดิมมิใช่พนักงานอัยการ ให้ส่งสำเนาคำร้องและแจ้งวันนัดไต่สวนให้พนักงานอัยการทราบด้วย พนักงานอัยการและโจทก์ในคดีเดิมจะมาฟังการไต่สวนและซักค้านพยานของผู้ร้องด้วยหรือไม่ก็ได้ ผู้ร้องและโจทก์ในคดีเดิมมีสิทธิแต่งทนายแทนตนได้” และมาตรา ๙ วรรคสาม บัญญัติว่า “เมื่อได้ไต่สวนคำร้องแล้ว ให้ศาลที่ไต่สวนคำร้องส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้า” มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนการไต่สวนและความเห็นแล้ว ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ให้ศาลอุทธรณ์สั่งรับคำร้องและสั่งให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น” มาตรา ๑๐ วรรคสอง บัญญัติว่า “คำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด” ตามบทบัญญัติมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ ดังกล่าวนี้เห็นได้ว่า เฉพาะพนักงานอัยการซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา ๖ (๕) เป็นผู้ร้องขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นจะมีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องได้ โดยหากมีคำสั่งรับคำร้องให้ดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่แล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นที่สุดตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แต่หากเป็นบุคคลตามมาตรา ๖ (๑) ถึง (๔) เป็นผู้ร้องแล้ว ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจที่จะสั่งรับคำร้องให้ดำเนินคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่หรือยกคำร้องเลย ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ดำเนินการตามมาตรา ๙ วรรคสอง ทำการไต่สวนคำร้อง หรือหากเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องไม่ชอบด้วยมาตรา ๕ จะไม่ทำการไต่สวนก็ได้ แต่ศาลชั้นต้นมีสิทธิเพียงทำความเห็นเสนอสำนวนการไต่สวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเท่านั้น และการจะสั่งรับคำร้องให้พิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่หรือสั่งให้ยกคำร้องนั้นเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ ซึ่งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวนี้เป็นที่สุดตามมาตรา ๑๐ วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ของผู้ร้องเสียเองโดยมิได้ทำความเห็นส่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณามีคำสั่งดังกล่าว และเมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาเห็นด้วยในผลที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง โดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องร้องขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่สองครั้งเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๑๘ ก็ตาม แต่เห็นได้ว่าศาลล่างทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคำร้องของผู้ร้องไม่ชอบ ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๓ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไปแล้วทำความเห็นส่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งตามรูปคดีต่อไป.

Share