แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อตกลงการคิดดอกเบี้ยในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่ให้เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร หมายความว่าให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีของธนาคารพาณิชย์ ส่วนอัตราดอกเบี้ยต้องถือตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ก็ไม่ทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยซึ่งจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในอัตราร้อยละ15 ต่อปีเปลี่ยนแปลงไป โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ และจะชำระให้เป็นรายเดือนมิได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ลูกหนี้หรือสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ มูลหนี้เดิมจึงไม่ระงับ การที่มีบุคคลอื่นมาค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อโจทก์อีกไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันเดิมพ้นความรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 12,945,301.48 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองด้วย หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระและไม่ไถ่ถอนจำนองให้ยึดทรัพย์สินจำนองโฉนดที่ดินเลขที่ 4073 ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรีจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 8,719,398.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2532 ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2532โดยวิธีทบต้นตามประเพณีของธนาคารตามบัญชีกระแสรายวันและดอกเบี้ยในอัตราเดียวกัน นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2532 เป็นต้นไป โดยไม่ทบต้นจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงินเพียง 200,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2532 เป็นต้นไปจนถึงวันชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4073ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ที่ยังขาดอยู่จนกว่าจะครบ แต่ทั้งนี้สำหรับจำเลยที่ 2 ต้องไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถายกเว้นเฉพาะค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์กึ่งหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1ได้ขอเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ และทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 100,000บาท เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2517 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม2518 จำเลยที่ 1 ได้ขอเพิ่มวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีเป็น 200,000 บาท จำเลยที่ 2 ตกลงค้ำประกันวงเงินที่เพิ่มด้วย จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 4073 ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์จนครบกำหนดอายุสัญญาแล้วก็ยังคงเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ต่อไปอีก ครั้งสุดท้ายจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 18พฤศจิกายน 2524 จำนวนเงิน 500 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยชอบหรือไม่ ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เอกสารหมาย จ.18 ข้อ 2 ระบุว่าผู้เบิกเงินเกินบัญชียอมให้ดอกเบี้ยแก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีไปในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดส่งเป็นรายเดือนทุกเดือนภายในวันที่ 5 ของเดือนในเวลาทำงานของธนาคาร แต่ถ้าวันกำหนดส่งดอกเบี้ยเช่นว่านี้ตรงกับวันหยุดของธนาคาร ก็ให้เลื่อนไปส่งในวันเปิดทำงานที่ถัดไปสำหรับบันทึกต่อท้ายสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.21 ที่จำเลยที่ 1 ขอเพิ่มวงเงินเบิกเกินบัญชีอีก 100,000 บาท ก็ระบุว่าเงื่อนไขและข้อตกลงอย่างอื่น ๆ คงให้เป็นไปตามสัญญาเดิมทุกประการ ซึ่งหมายความว่าผู้เบิกเงินเกินบัญชียอมให้ดอกเบี้ยแก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีไปในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อจำเลยที่ 1ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองครั้งดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยที่ 1ได้ตกลงเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยกันใหม่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ในอัตราสูงกว่าที่ได้ตกลงกันไว้เดิม โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้มากกว่าร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันผิดนัด ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่นับจากวันผิดนัดถึงวันฟ้องจำนวน 12,945,301.48 บาท โดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15ต่อปี จึงไม่ถูกต้อง ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เนื่องจากมีข้อตกลงกันว่าให้เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีข้อ 1 และข้อ 3 นั้น เห็นว่า คำว่าให้เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคารนั้น มีความหมายว่า ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตามประเพณีของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น อัตราดอกเบี้ยต้องถือตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ ก็ไม่ทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่ตกลงไว้ยอดหนี้ที่คิดบัญชีจึงไม่ถูกต้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยต่อไปว่าศาลไม่มีหน้าที่ต้องคิดยอดเงินที่ถูกต้องให้โจทก์ จึงให้ยกฟ้องโจทก์ โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะยื่นฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสำหรับคดีนี้พยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดี ศาลฎีกาจึงเห็นควรพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยไม่ต้องให้โจทก์ไปฟ้องเป็นคดีใหม่และไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้และรับผิดชดใช้หนี้สินตามเอกสารหมาย จ.11 ว่า ในวันที่ 20 มีนาคม 2524 จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้โจทก์เป็นจำนวนเงิน 2,157,821.99 บาท และยอมรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่หลังจากวันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับสภาพหนี้และรับผิดชดใช้หนี้สินดังกล่าวแก่โจทก์แล้วปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.27 ว่า ในวันที่ 24 มีนาคม 2524 วันที่ 31มีนาคม 2524 วันที่ 16 เมษายน 2524 วันที่ 12 พฤษภาคม 2524 และวันที่ 14กรกฎาคม 2524 จำเลยที่ 1 ยังได้สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเกินบัญชีไปอีกรวม 5 ครั้ง เป็นจำนวนเงิน 2,346 บาท 1,732 บาท 4,366 บาท 10,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับและจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนบัญชีอีกรวม 8 ครั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม2524 จำนวนเงิน 2,300 บาท วันที่ 31 มีนาคม 2524 จำนวนเงิน 1,800 บาท วันที่ 16เมษายน 2524 จำนวนเงิน 4,400 บาท วันที่ 12 พฤษภาคม 2524 จำนวนเงิน 10,000บาท วันที่ 11 มิถุนายน 2524 จำนวนเงิน 691 บาท วันที่ 14 กรกฎาคม 2524 จำนวนเงิน10,000 บาท วันที่ 11 พฤศจิกายน 2524 จำนวนเงิน 500 บาท และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่18 พฤศจิกายน 2524 จำนวนเงิน 500 บาท แสดงว่าคู่สัญญายังคงให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา และไม่ถือว่ามีการผิดนัดจนกว่าจะได้มีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระเงินคงเหลือแล้วโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ลงวันที่ 29 กันยายน 2531 โดยคิดหักทอนบัญชีเพียงวันที่ 31 สิงหาคม 2531มียอดหนี้จำนวนทั้งสิ้น 3,610,805.58 บาท แต่เห็นว่ายอดหนี้ดังกล่าวยังไม่ถูกต้องเพราะโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี และ 19 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของยอดเงิน 2,157,821.99 บาท ตามสัญญารับสภาพหนี้และรับผิดชดใช้หนี้สินเอกสารหมาย จ.11 นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2524 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2531 ซึ่งเป็นวันหักทอนบัญชี หลังจากนั้นให้นำยอดเงินและดอกเบี้ยทบต้นที่คิดถึงวันหักทอนบัญชีเป็นต้นเงินให้คิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นนับถัดจากวันหักทอนบัญชีในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเกินบัญชีรวม 5 ครั้ง และเข้าบัญชีรวม 8 ครั้ง ตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.27 ดังกล่าวมาหักทอนบัญชีก่อน
ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันจากจำเลยที่ 2 เป็นนายเกี่ยว จงพัฒนาทวีศักดิ์ เป็นการเปลี่ยนแปลงผู้ค้ำประกันและเปลี่ยนแปลงมูลหนี้ใหม่ จำเลยที่ 2 จึงหลุดพ้นความรับผิด ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์จริงจะชำระให้เป็นรายเดือนหาได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ลูกหนี้หรือสาระสำคัญแห่งหนี้ อันจะถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ มูลหนี้เดิมจึงไม่ระงับดังจะเห็นได้ว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับสภาพหนี้และรับผิดชดใช้หนี้สินตามเอกสารหมาย จ.11 แล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังคงเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปอีก ถือว่าคู่สัญญายังคงให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลาโจทก์ได้คิดหักทอนบัญชีเพียงวันที่ 31 สิงหาคม 2531 จำเลยที่ 1ยังคงค้างชำระหนี้โจทก์ตามบัญชีเดินสะพัดในวันดังกล่าว การที่มีบุคคลอื่นมาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์อีกหาทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ในหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าว จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันเบิกเงินเกินบัญชีในต้นเงิน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ทบต้นนับแต่วันหักทอนบัญชีคือวันที่ 31 สิงหาคม2531 แต่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2532ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงให้โจทก์ได้ไม่เกินคำขอ”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,157,821.99 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2524 ถึงวันที่ 31สิงหาคม 2531 โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเกินบัญชีและเข้าบัญชีในช่วงเวลาดังกล่าวตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.27 มาหักทอนบัญชีก่อน หลังจากนั้นให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยไม่ทบต้นในอัตราเดียวกันของต้นเงินที่คำนวณได้ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2531 นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้บังคับคดีไปตามวิธีที่ระบุไว้ในคำพิพากษาศาลชั้นต้น