คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงาน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าสึกหรอของเครื่องจักร และค่าควบคุมคือ ค่าใช้จ่ายที่ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบความเสียหายและดำเนินการต่าง ๆ เป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องมีแน่นอนและโจทก์ได้ใช้ไปในการซ่อมรถจักรของโจทก์ที่ได้รับความเสียหายซึ่งสามารถคิดคำนวณเฉลี่ยออกมาได้ จึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายทั้งสองส่วนนี้ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 80-0642 ชลบุรี จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวบรรทุกไม้ซุงในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวบรรทุกไม้ซุงในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปตามถนนจะข้ามทางรถไฟที่หลักกิโลเมตรที่ 231/9-10โดยมิได้หยุดตามสัญญาณห้ามก่อนข้ามทางรถไฟ และไม่ดูว่าขบวนรถไฟกำลังแล่นมาหรือไม่ ขณะนั้นเป็นเวลาของขบวนรถไฟที่ 109 ของโจทก์ จะแล่นผ่านทางที่เกิดเหตุ รถยนต์ของจำเลยขับมาในระยะกระชั้นชิดไม่สามารถหยุดขบวนรถไฟได้ทันจึงชนกับรถยนต์บรรทุกดังกล่าวเป็นเหตุให้รถจักรดีเซลหมายเลข บกซ.1220 ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 131,495.94 บาท แก่โจทก์และดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-0642 ชลบุรี ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี คดีขาดอายุความ โจทก์ได้รับความเสียหายไม่เกิน 2,000 บาท ความเสียหายเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ควบคุมรถจักรดีเซลหมายเลข บกซ. 1220 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 มิได้เป็นลูกจ้างและกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1เป็นผู้รับจ้างขนไม้ซุงให้จำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 กำหนดค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 3,000 บาท เหตุที่รถเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของพนักงานควบคุมรถจักรดีเซลหมายเลขบกซ. 1220 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 35,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 50,673.22 บาท แก่โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นที่จะวินิจฉัยในชั้นนี้จึงมีว่าโจทก์ควรได้รับค่าเสียหายเพียงใด สำหรับค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงานและค่าควบคุมนั้นโจทก์มีนายไพทูรย์ ศรีวรวิทย์ หัวหน้าแผนกบัญชีโรงงานมักกะสันซึ่งมีหน้าที่คิดค่าเสียหายในการซ่อมเป็นพยานเบิกความว่า ค่าใช้จ่ายทั่วไปในโรงงาน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปาค่าสึกหรอของเครื่องจักรเครื่องมือ ส่วนค่าควบคุมคือค่าใช้จ่ายที่ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบความเสียหายและดำเนินการต่าง ๆเห็นว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่จะต้องมีแน่นอนและโจทก์ได้ใช้ไปในการซ่อมรถจักรดีเซลของโจทก์ที่ได้รับความเสียหายซึ่งสามารถคิดคำนวณเฉลี่ยออกมาได้จึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายทั้งสองส่วนนี้ได้ แต่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ โจทก์เสียหายแท้จริงเท่าไรนั้น โจทก์มิได้นำสืบให้ชัดแจ้ง เมื่อพิเคราะห์ถึงสภาพรถจักรดีเซลของโจทก์ที่ได้รับความเสียหาย และค่าของก็มีเพียง 6,632.20 บาท แล้ว เห็นควรกำหนดค่าเสียหายทั้งสองส่วนนี้ให้รวมเป็นเงิน 7,500 บาท เมื่อรวมกับค่าแรงและค่าของแล้วโจทก์จึงเสียหายเป็นเงิน 58,173.22 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าใช้จ่ายทั้งสองส่วนนี้ให้โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายรวม 58,173.22 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share