คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5343/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของผู้อื่นโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้นศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เฉพาะโทษเป็นให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี ส่วนความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี ดังนั้น ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ทั้งสองข้อหาดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดหรือไม่นั้น เป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง มิได้วินิจฉัยเพราะจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดหรือไม่จึงเป็นอันถึงที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289,371, 83, 91, 33 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบอาวุธปืน ซองกระสุนปืน กระสุนปืน หัวกระสุนปืน สมุดฉีก แผ่นกระดาษเขียนรหัสวิทยุ รถจักรยานยนต์และรถยนต์กระบะของกลางและขอให้บวกโทษของจำเลยที่ 4 ที่รอการลงโทษไว้เข้ากับโทษของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้

จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), 83 เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยที 1 และที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสี่ ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 9 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 3 ปี เนื่องจากคดีนี้ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะเกิดเหตุเป็นความยากลำบากในการติดตามหาตัวผู้กระทำผิด พนักงานสอบสวนหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสี่ได้ก็โดยอาศัยคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสี่เป็นแนวทางการสืบสวนสอบสวน ทั้งจำเลยทั้งสี่สำนึกผิดและกระทำการขอขมาโทษแก่บุคคลในครอบครัวของผู้ตาย คำรับสารภาพของจำเลยทั้งหมดเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอย่างยิ่ง มีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52(1) ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงจำคุกจำเลยทั้งสี่ตลอดชีวิต ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนคงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 6 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 2 ปี รวมความผิดทุกกระทงแล้วคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1และที่ 3 ตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของผู้อื่นโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี แต่เมื่อรวมความผิดทุกกระทงแล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อเดียวว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดเห็นว่า ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของผู้อื่นโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เฉพาะโทษเป็นให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี ส่วนความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี ดังนั้น ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ทั้งสองข้อหาดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดหรือไม่นั้น เป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง มิได้วินิจฉัยเพราะจำเลยที่ 1 อุทธรณ์เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดหรือไม่จึงเป็นอันถึงที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยที่ 1 ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1

Share