คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 261/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 แม้จำเลยจะรับสารภาพ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 วรรค 1 ก็บัญญัติให้ศาลฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามฟ้อง จึงจะพิพากษาลงโทษได้
จำเลยมิได้ซักค้านพยานโจทก์ไว้ แล้วนำพยานมาสืบในภายหลัง แต่เมื่อโจทก์มิได้คัดค้านให้ศาลปฏิเสธไม่รับฟังพยานนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 วรรค 2 จึงไม่ต้องห้ามที่จะให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบ
เจ้าของบ้านทราบว่ามีคนร้ายจะมาปล้นบ้าน จึงให้จำเลยและบุตรชายนอนเฝ้าบ้าน ผู้ตายได้ไปที่ประตูรั้วหลังบ้านในเวลาวิกาล ขณะที่ยังมือสนิท เสียงสุนัขเห่าดังลั่นไปหมด จำเลยได้ยินบุตรเจ้าของบ้านร้องว่าขโมย จึงให้ปืนยิงไปยังผู้ตาย โดยมีความรู้สึกขณะยิงปืนว่ามีคนร้ายมาที่ประตูรั้ว เข้ามาจะปล้นบ้าน พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ถ้าผู้ตายและพวกเป็นคนร้ายจริง ย่อมฟังได้ว่านึกภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้เกิดขึ้นแล้ว และภยันตรายนั้นใกล้จะถึงทรัพย์หรือใกล้จะถึงตัวจำเลยแล้ว ฉะนั้นการที่จำเลยใช้ปืนยิงไปที่ผู้ตายซึ่งจำเลยสำคัญผิดว่าเป็นคนร้าย เช่นนี้ จึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิป้องกันตัวจำเลยและเพื่อป้องกันทรัพย์ให้เจ้าของบ้าน เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
การที่จำเลยทำการป้องกันตัวโดยสำคัญผิด ต้องวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า และผู้ตายได้ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยยิงผู้ตายโดยสำคัญผิด ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘, ๖๒ จำคุก ๔ ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งฐานรับสารภาพตามมาตรา ๗๘ ให้จำคุกจำเลย ๒ ปี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๖๘ จำเลยไม่มีความผิด พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยมีเจตนาฆ่าคนร้าย มิได้กระทำไปโดยประมาทการกระทำของจำเลย โจทก์ขอให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๘ ซึ่งจำคุกอย่างต่ำถึง ๑๕ ปี แม้จำเลยจะรับสารภาพ ศาลก็ต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตามฟ้อง จึงพิพากษาลงโทษได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลไม่ควรรับฟังคำเบิกความของจำเลยเพราะจำเลยไม่ได้ซักค้านพยานโจทก์ในข้อนั้นไว้ เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๙ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๙ วรรค ๒ บัญญัติให้คู่ความฝ่ายที่สืบพยานก่อน ชอบที่จะคัดค้านกรณีเช่นนี้ไว้ แล้วให้ศาลปฏิเสธไม่ยอมรับฟังคำพยานเช่นว่ามานั้น แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้โต้แย้งนำข้อนำสืบของจำเลยข้อนี้ไว้ในรายงานพิจารณาความ หรือโจทก์ยื่นคำแถลงโต้แย้งไว้ในสำนวน ฉะนั้น จึงไม่ต้องห้ามที่จะให้ศาลรับฟังข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบ
ที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำลเยไม่เป็นการป้องกันหรือหากฟังว่าเป็นการป้องกันก็เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ เห็นว่าการที่จะวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันหรือไม่ จำต้องพิเคราะห์ถึงแก่ภยันตรายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ ว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้เกิดขึ้นได้มีขึ้น และภยันตรายนั้นใกล้จะถึงแล้วหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่า นายหวนได้รับข่าวว่าจะมีคนร้ายเข้ามาปล้นบ้าน นายหวนไปต่างจังหวัดจึงได้ให้จำเลยและนายปรีชาบุตรชายนอนเฝ้าที่ใต้ถุนเรือนห่างลานนวดข้าวประมาณ ๕ วา มอบปืนลูกซองยาว ๑ กระบอกไว้ป้องกัน ขณะเกิดเหตุ ๕.๐๐ นาฬิกา ยังมืดสนิทซึ่งเป็นเวลาวิกาล นายพักผู้ตายกับพวกรวม ๓ คน พากระบือลากเลื่อนมาที่บ้านนายหวน ผู้ตายได้ไปที่ประตูรั้วหลังบ้านแถวลานนวดข้าวนั้น ขณะนั้นสุนัขเห่าเสียงดังลั่นไปหมด จำเลยตกใจตื่นขึ้นได้ยินเสียงนายปรีชาร้องว่าขโมย จำเลยจึงใช้ปืนยิงไปที่ผู้ตาย โดยจำเลยมีความรู้สึกขณะยิงปืนไปว่ามีคนร้ายมาที่ประตูรั้ว เข้ามาในบ้านจะมาปล้นบ้านปล้นข้าวฟ่อนของนายหวน พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ถ้าผู้ตายและพวกเป็นคนร้ายจริง ย่อมฟังได้ว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้เกิดขึ้นได้มีขึ้นแล้ว และภยันตรายนั้นใกล้จะถึงทรัพย์หรือใกล้จะถึงตัวจำเลยแล้ว เพราะคนร้ายได้มาถึงประตูรั้วบ้านและเข้ามาในบ้าน ฉะนั้น การที่จำเลยใช้ปืนยิงไปที่ผู้ตายซึ่งจำเลยสำคัญผิดว่าเป็นคนร้าย เช่นนี้ จึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิป้องกันตัวจำเลย และเพื่อป้องกันทรัพย์ให้นายหวน
เนื่องจากเรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะความสำคัญผิด กล่าวตามหลักเรื่องป้องกันแล้วภยันตรายที่จำเลยจะใช้สิทธิป้องกันได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘ นั้น จะต้องเป็นภยันตรายที่ได้เกิดขึ้นได้มีขึ้นจริง การวินิจฉัยกรณีสำคัญผิดคดีนี้จำต้องไปอาศัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๒ วรรคแรก ซึ่งบัญญัติไว้ใจความว่า ถ้าข้อเท็จจริงใด แม้จะไม่มีอยู่จริง แต่ถ้าผู้กระทำผิดสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง กฎหมายให้ถือว่าข้อเท็จจริงนั้นได้มีอยู่จริง กล่าวคือ ภยันตรายนั้นแม้จะไม่มีอยู่จริงก็ให้ถือว่าภยันตรายนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว และมีอยู่จริงตามที่จำเลยสำคัญผิด ซึ่งในคดีนี้ก็ต้องถือว่าได้มีคนร้ายมาปล้นบ้าน ปล้นข้าวฟ่อนของนายหวนและอาจจะทำร้ายตัวจำเลยด้วย คดีฟังได้ว่าจำเลยให้ปืนยิงผู้ตายไปเป็นการป้องกันและเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๘
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share