คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2608/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่คู่ความฝ่ายหนึ่งครอบครองทรัพย์ที่พิพาทในระหว่างคดีนั้นคู่ความฝ่ายนั้นจะอ้างว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหาได้ไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงอ้างการครอบครองในช่วงระยะเวลาที่กำลังพิพาทเป็นคดีอยู่นั้นขึ้นเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ และเมื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ชนะคดีจำเลยที่ 1 คำพิพากษาของศาลในคดีนั้นย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทจากเจ้าของกรรมสิทธิ์มาก็ย่อมได้รับสิทธิดังกล่าวจากเจ้าของกรรมสิทธิ์มาด้วย จำเลยที่ 1 จึงอ้างการครอบครองปรปักษ์ในช่วงระยะเวลาที่เป็นความกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ขึ้นโต้แย้งยันโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์สืบต่อมาไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ 5017 โดยซื้อมาจากนายแสวง ชาวห้วยหมาก โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยชอบ ในที่ดินแปลงนี้มีเรือนและยุ้งข้าวของจำเลยที่ 1 สองหลัง และยุ้งข้าวของจำเลยที่ 2 อีกหนึ่งหลังปลูกอยู่ก่อนโจทก์ซื้อที่ดิน โดยนางเขียวมารดาจำเลยที่ 1 ปลูกโดยอาศัยนายเพียนเจ้าของที่ดินเดิม แล้วได้มีการขายที่ดินแปลงนี้กันต่อมาหลายทอดจนเป็นของนายแสวง ชาวห้วยหมาก และนายแสวงได้จำนองไว้กับนายพร้อม อุ่นวรรณธรรม ซึ่งต่อมาถูกบังคับจำนอง เจ้าพนักงานยึดเพื่อขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่าที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 และได้ฟ้องขับไล่นายสุพจน์ จุสมใจ ออกจากที่ดินแปลงนี้ด้วย ปรากฏตามสำนวนของศาลจังหวัดสุพรรณบุรีหมายเลขแดงที่ 177/2506 และแดงที่ 296/2508 ศาลได้พิจารณาพิพากษารวมกัน จนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า นางเขียวและจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้อาศัยนายเพียนเจ้าของเดิม ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนายแสวงซึ่งหลังจากศาลฎีกาพิพากษาแล้ว นายแสวงได้ไถ่ถอนจำนองแล้วจึงโอนขายให้โจทก์บัดนี้ โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในที่ดินแปลงนี้ ได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกไปแล้ว จำเลยเพิกเฉย จึงขอให้บังคับให้จำเลยรื้อถอนเรือนและยุ้งข้าวออกไปจากที่ดินโจทก์ห้ามเกี่ยวข้อง

จำเลยทั้งสองให้การว่า คำพิพากษาศาลฎีกาไม่ปิดปากจำเลยที่ 1มิให้เถียงกรรมสิทธิ์กับโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ ซึ่งโจทก์ทราบก่อนซื้อแล้ว จึงเป็นการได้มาโดยไม่สุจริต โจทก์ซึ่งเป็นบริวารของนายสุพจน์ยังใช้ที่ดินส่วนที่ไม่มีโฉนดของจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลพิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขับไล่นายสุพจน์ให้นายสุพจน์ระงับการเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว เมื่อโจทก์ไม่เสนอชำระหนี้ตอบแทนโดยระงับการกระทำดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ดินส่วนใดจะเป็นที่มีโฉนดหรือไม่มี เจ้าพนักงานยังไม่ได้รังวัด โจทก์ไม่เคยมีหนังสือบอกกล่าวมายังจำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ปรากฏชัดตามสำนวนคดีแพ่งแดงที่ 177/2506 ของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี คดีระหว่าง นายพร้อม อุ่นวรรณธรรมโจทก์ นายแสวง ชาวห้วยหมาก จำเลย นายละออง ม่วงงาม ผู้ร้องขัดทรัพย์ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายละอองผู้ร้องขัดทรัพย์ (คือจำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ครอบครองที่ดินโฉนด 5017 มายังไม่ครบ 10 ปี จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในโฉนดที่พิพาทแต่อย่างใด แม้นับเวลาตั้งแต่วันที่นายละอองจำเลยที่ 1 ฟังคำพิพากษาดังกล่าวมาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ จำเลยที่ 1 ก็ยังครอบครองปรปักษ์ไม่ครบ 10 ปีเช่นกัน ประเด็นที่ว่า โจทก์ซื้อโดยสุจริตหรือไม่ ไม่ต้องวินิจฉัย และโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทราบก่อนฟ้องแล้ว พิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนเรือนและยุ้งข้าวออกจากที่ดินโฉนดที่ 5017 ของโจทก์ ห้ามเกี่ยวข้อง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดไว้ในคดีหมายเลขดำที่ 250/2506 แดงที่ 177/2506 ที่นายละอองจำเลยที่ 1 ร้องขัดทรัพย์อ้างว่าที่ดินตามโฉนดที่ 5017 เป็นของนายละอองจำเลยที่ 1 นั้นแล้วว่า ที่ดินตามโฉนดที่ 5017 ที่พิพาทกันในคดีนี้เป็นของนายแสวง ชาวห้วยหมากเพราะนางเขียวมารดาของจำเลยที่ 1 เพิ่งเปลี่ยนเจตนาจะครอบครองที่พิพาทเพื่อตนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2498 เมื่อนับมาจนถึงวันที่นายละอองจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในคดีนั้น ในวันที่ 10 กันยายน 2506 (เป็นเวลาเพียง 8 ปี 3 เดือน) ยังไม่ครบ 10 ปี นางเขียวและนายละอองจำเลยที่ 1 ผู้รับมรดกจากนางเขียวยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ คดีจึงมีปัญหาว่าจะนับระยะเวลาที่จำเลยครอบครองที่ดินตามโฉนดที่พิพาทในระหว่างเป็นความอยู่ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 250/2506 แดงที่ 177/2506 ที่นายละอองจำเลยที่ 1 ร้องขัดทรัพย์นั้น รวมกับระยะเวลาครอบครองที่ดินตามโฉนดที่พิพาทที่จำเลยมีอยู่ก่อนนายละอองจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขัดทรัพย์นั้นเป็นการครอบครองปรปักษ์ยันโจทก์ได้หรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ระยะเวลาที่จำเลยครอบครองที่ดินตามโฉนดที่พิพาทตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2506 ซึ่งเป็นวันยื่นคำร้องขัดทรัพย์เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2511 อันเป็นวันที่นายละอองจำเลยที่ 1 ได้ฟังคำพิพากษาศาลฎีกา อันเป็นคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีร้องขัดทรัพย์นั้น เป็นการครอบครองทรัพย์พิพาทในระหว่างคดี จะนับระยะเวลาการครอบครองในระหว่างคดีดังกล่าวรวมเข้ากับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ที่นายละอองจำเลยที่ 1 มีอยู่ก่อนวันยื่นคำร้องขัดทรัพย์ ดังที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่ ทั้งนี้ เพราะการที่คู่ความฝ่ายหนึ่งครอบครองทรัพย์ที่พิพาทในระหว่างคดีนั้น คู่ความฝ่ายนั้นจะอ้างว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหาได้ไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงอ้างการครอบครองในช่วงระยะเวลาที่กำลังพิพาทเป็นคดีอยู่นั้นขึ้นเป็นปรปักษ์ต่อนายแสวง ชาวห้วยหมาก เจ้าของกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ และเมื่อนายแสวง ชาวห้วยหมากชนะคดีจำเลยที่ 1 แล้ว คำพิพากษาของศาลในคดีนั้นย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทจากนายแสวง ชาวห้วยหมาก มา โจทก์ก็ย่อมได้รับสิทธิดังกล่าวจากนายแสวง ชาวห้วยหมาก มาด้วยจำเลยที่ 1 จึงอ้างการครอบครองปรปักษ์ในช่วงระยะเวลาที่เป็นความกับนายแสวง ชาวห้วยหมาก ขึ้นโต้แย้งยังโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์สืบต่อมาไม่ได้

พิพากษายืน

Share