คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1782/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยโดยบรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องเกี่ยวกับเจตนาในการทำนิติกรรมรายนี้ว่า โจทก์ที่ 1 ถูกจำเลยหลอกลวงว่าให้ทำนิติกรรมเสียทีหนึ่งก่อน แล้วค่อยโอนให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4ในภายหลัง โจทก์ที่ 1 จึงโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยโดยไม่รู้เท่าทันถึงเหตุการณ์ โจทก์ที่ 1 ไม่มีเจตนายกที่ดินพิพาทให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียวเป็นฟ้องที่กล่าวโดยชัดแจ้งพอให้จำเลยเข้าใจสภาพแห่งข้อหาของโจทก์แล้ว แม้โจทก์จะระบุด้วยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นกลฉ้อฉลและเป็นการแสดงเจตนาลวงอันเป็นการขัดกันก็เป็นการยกเอากฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงตามความเข้าใจของโจทก์ หาเป็นเหตุที่จะถือว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมไม่
โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งหมด แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ยกส่วนของตนให้จำเลยไปแล้ว และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในฐานะทายาทผู้รับมรดกของ ส. บิดา ซึ่งยังมีทายาทอื่นอีก เช่น จำเลย อีกด้วย. เฉพาะส่วนของ โจทก์ที่ 1ในฐานะภริยาของ ส. ซึ่งยกให้จำเลยนั้น ข้อเท็จจริงก็ยังฟังเป็นยุติไม่ได้ว่ามีอยู่ครึ่งหนึ่งหรือ 1 ใน 3 ดังนี้ ยังไม่สมควรที่ศาลจะพิพากษาให้แบ่งส่วนในที่ดินพิพาทไปเลย ควรให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในโฉนดที่ดินรายพิพาทตามคำขอของโจทก์เท่านั้นฝ่ายใดจะมีกรรมสิทธิ์อยู่เป็นส่วนเท่าใด เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่กันเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และจำเลย นายสำลีสามีโจทก์ที่ 1 กับนายขำนางบางบิดามารดา มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดที่ 3827 คนทั้งสามตายโจทก์ทุกคนและบุตรอื่นเป็นผู้รับมรดก แต่ลงชื่อโจทก์ที่ 1 ในโฉนดเพียงผู้เดียวถือกรรมสิทธิ์โดยส่วนตัวและแทนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อมาโจทก์ที่ 1 ประสงค์จะโอนที่แปลงนี้ให้บุตรทุกคนมีชื่อร่วมกับโจทก์ แต่บุตรอื่นกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ไปสำนักงานที่ดิน โจทก์ที่ 1 หลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยว่าให้ทำนิติกรรมเสียทีหนึ่งก่อนแล้วค่อยโอนให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และบุตรอื่นภายหลัง จึงได้ทำนิติกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยแต่ผู้เดียว ก่อนทำนิติกรรมที่ดินถูกเวนคืนบางส่วน และจะได้รับค่าทดแทน 60,000 บาท จำเลยไม่ยอมโอนใส่ชื่อโจทก์ทุกคนในโฉนด ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมให้ที่ดินรายพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยเป็นโมฆะ ให้เพิกถอนเสีย ให้จำเลยโอนคืนแก่โจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินและเงินค่าทดแทน ให้เจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์ทุกคนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจากการเวนคืน

จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ที่ 1 ยกที่พิพาทให้จำเลยโดยสมัครใจ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้แบ่งที่พิพาทที่เหลือจากการเวนคืนรวมทั้งเงินค่าทดแทน 60,000 บาท ออกเป็น 16 ส่วน ให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ได้คนละ 1 ส่วน ให้จำเลยใส่ชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเจ้าของร่วมด้วยตามส่วน

โจทก์จำเลยฎีกา

ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภรรยาของนายสำลี โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรของนายสำลีเกิดด้วยโจทก์ที่ 1 ที่ดินรายพิพาทเดิมมีชื่อนายสำลีถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันกับบิดามารดาในโฉนดเมื่อบิดามารดาตาย ส่วนของบิดามารดาก็เป็นมรดกตกได้แก่นายสำลี นายสำลีถึงแก่กรรมแล้วโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ขอรับมรดกที่พิพาทโอนใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 ในโฉนดแต่ผู้เดียว ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้โอนไปยังผู้อื่น แล้วก็ได้โอนกลับคืนมาเป็นของโจทก์ที่ 1 อีก ในที่สุดโจทก์ที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลย

ปัญหาที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องเคลือบคลุม ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องเกี่ยวกับเจตนาในการทำนิติกรรมรายนี้เป็นใจความว่า โจทก์ที่ 1 ถูกจำเลยหลอกลวงว่าให้ทำนิติกรรมเสียทีหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยโอนให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในภายหลังโจทก์ที่ 1 จึงโอนที่พิพาทให้จำเลยโดยไม่รู้เท่าทันถึงเหตุการณ์ โจทก์ที่ 1 ไม่มีเจตนายกที่พิพาทให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการกล่าวโดยชัดแจ้งพอให้จำเลยเข้าใจสภาพแห่งข้อหาของโจทก์แล้ว การที่โจทก์ระบุมาด้วยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นกลฉ้อฉลและเป็นการแสดงเจตนาลวงนั้น เป็นการยกเอากฎหมายมาปรับกับข้อเท็จจริงตามความเข้าใจของโจทก์ แม้จะขัดกันดังที่จำเลยฎีกาขึ้นมา ก็จะยกมาเป็นเหตุถือว่าฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหาได้ไม่

ปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ถึง 4 ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท จำเลยมิได้ต่อสู้ว่า โจทก์ที่ 2 ถึง 4 ไม่มีสิทธิรับมรดกของนายสำลี ต้องฟังว่าโจทก์ที่ 2 ถึง 4 มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทด้วย

ปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 โอนที่พิพาทให้จำเลย มิใช่เป็นการโอนกันจริงจัง ไม่ใช่ข้อที่ว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้น ตามฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่มีการโอนให้กันจริง ๆ มิใช่เพียงหลอก ๆ

ปัญหาที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแบ่งส่วนให้แก่โจทก์ จำเลยเป็นการชอบหรือไม่และส่วนของโจทก์ควรมีเท่าใด

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทในฐานะทายาทรับมรดกของนายสำลีบิดาและทายาทของนายสำลีก็มิได้มีแต่โจทก์เท่านั้นแต่มีคนอื่นเช่นจำเลยอีกด้วย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงควรได้แต่สวนแบ่งในที่พิพาท ไม่ใช่ควรได้ทั้งหมดตามที่เรียกร้องมาแต่ส่วนแบ่งของโจทก์มีเท่าใดนั้น คดีไม่มีข้อพิพาทกันมาโดยตรง โดยเฉพาะส่วนที่มิได้เป็นมรดก แต่เป็นของโจทก์ที่ 1 ในฐานะที่เป็นภรรยาของนายสำลีก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดังจะเห็นได้จากข้อโต้แย้งของโจทก์ในฎีกาว่า ส่วนของโจทก์ที่ 1 ในฐานะภรรยาควรมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น หาใช่ครึ่งหนึ่ง ดังคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ไม่ ข้อเท็จจริงยังฟังเป็นยุติไม่ได้ ศาลฎีกาจึงเห็นว่ายังไม่สมควรที่จะพิพากษาให้แบ่งส่วนในที่พิพาทไปตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ควรให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในโฉนดที่ดินรายพิพาทตามคำขอของโจทก์เท่านั้น ฝ่ายใดจะมีกรรมสิทธิ์อยู่เป็นส่วนเท่าไร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่กันเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก สำหรับเงินทดแทนจากการเวนคืนที่ดินรายพิพาท เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินรายพิพาท โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิในเงินนั้นตามส่วน แต่จะขอให้บังคับเจ้าหน้าที่กรมโยธาเทศบาลและเทศบาลกรุงเทพ ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดีเป็นผู้จ่ายให้ ศาลย่อมจะบังคับให้ไม่ได้

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า ให้จำเลยขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ใส่ชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินรายพิพาท ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยและโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 มีสิทธิในเงินทดแทนการเวนคืนที่ดินรายพิพาทตามส่วนแห่งกรรมสิทธิ์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย

Share