คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป. เป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ตามคำสั่งศาลจึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาท ย่อมมีสิทธินำหุ้นอันเป็นทรัพย์มรดกของ อ. เข้าร่วมเป็นองค์ประชุมในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยอันเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ทั่วไปของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1723 โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาท เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ได้มีลักษณะเป็นตัวแทนของทายาท เนื่องจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดก ให้นำบทบัญญัติ บรรพ 3 ลักษณะตัวแทนมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น และการกระทำเช่นนี้ไม่ใช่การทำนิติกรรมอันจะต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 จึงไม่ตกเป็นโมฆะ
การที่โจทก์ที่ 1 ถูกถอดถอนอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลย แล้วให้ ป. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยเกิดจากการลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้น แม้ ป. ในฐานะส่วนตัวจะออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบตามมติดังกล่าว แต่ได้งดออกเสียงลงคะแนนในฐานะผู้จัดการมรดกของ อ. การกระทำของ ป. จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นตามมาตรา 5 และมาตรา 421 เมื่อการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมดครบองค์ประชุมตามข้อบังคับ การประชุมและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2555 ของจำเลย ให้การประชุมตามหนังสือเชิญประชุมดังกล่าวรวมทั้งกิจการอันใดที่ได้กระทำไปเนื่องจากมติดังกล่าวตกเป็นโมฆะ และให้เพิกถอนการจดทะเบียนใด ๆ เนื่องจากมติดังกล่าวหรือให้ตกเป็นโมฆะ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2555 ของจำเลยเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม กำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสาม
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงชั้นฎีการับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีทุนจดทะเบียน 25,000,000 บาท แบ่งทุนจดทะเบียนเป็นหุ้น 250,000 หุ้น หุ้นละ 100 บาท มีผู้ถือหุ้น 11 คน โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถือหุ้นคนละ 35,705 หุ้น โจทก์ที่ 2 นางรัตนา และนายอุดม ถือหุ้นคนละ 35,714 หุ้น นายประพัฒน์ ถือหุ้น 35,716 หุ้น นายปรีดา ถือหุ้น 30,714 หุ้น นางสาวจิตาภา และนางสาวอัญญาพร ถือหุ้นคนละ 2,500 หุ้น นายนภสิทธิ์ และนายณัฐชัย ถือหุ้นคนละ 9 หุ้น ปี 2524 นายอุดมถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งตั้งนายประพัฒน์เป็นผู้จัดการมรดกของนายอุดม ปี 2549 โจทก์ทั้งสามและนายปรีดาซึ่งเป็นทายาทของนายอุดมฟ้องนายประพัฒน์ให้แบ่งทรัพย์มรดกของนายอุดมซึ่งรวมทั้งหุ้นของจำเลยที่นายอุดมถืออยู่ 35,714 หุ้น นายประพัฒน์ให้การต่อสู้ว่าหุ้นดังกล่าวเป็นของตน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 ผู้ถือหุ้น 4 คน คือ นายประพัฒน์ นายปรีดา นางสาวจิตาภา และนางสาวอัญญาพร ซึ่งถือหุ้นรวมกัน 71,430 หุ้น มีหนังสือร้องขอให้คณะกรรมการของจำเลยเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2555 แต่คณะกรรมการของจำเลยไม่ได้เรียกประชุมจนพ้นกำหนด 30 วัน วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 โจทก์ทั้งสามประชุมร่วมกันแล้วมีมติให้นายประพัฒน์นำหุ้น 35,714 หุ้น อันเป็นทรัพย์มรดกของนายอุดมไปออกเสียงลงคะแนนให้โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 นายปรีดา และนายณัฐชัยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย วันที่ 21 มีนาคม 2555 ผู้ถือหุ้นทั้ง 4 คน ดังกล่าวมีหนังสือเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2555 และจัดให้มีการประชุมในวันที่ 2 เมษายน 2555 มีผู้ถือหุ้นและผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม 8 คน นายประพัฒน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอุดมนำหุ้นทรัพย์มรดกของนายอุดมเข้าร่วมประชุมนับจำนวนหุ้นรวมกันได้ 142,876 หุ้น ซึ่งตามข้อบังคับของจำเลยเกี่ยวกับการประชุมผู้ถือหุ้น ต้องมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม การออกเสียงลงคะแนนให้ถือเสียงข้างมาก ที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากให้คณะกรรมการของจำเลยประกอบด้วย โจทก์ที่ 1 นายประพัฒน์ และนายปรีดา โดยนายประพัฒน์และนายปรีดาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญ กระทำการแทนจำเลยได้ ให้โจทก์ที่ 1 พ้นจากการเป็นกรรมการของบริษัทอื่น ๆ ในสัดส่วนของจำเลย และให้นายปรีดาเข้าเป็นกรรมการดังกล่าวแทน โดยนายประพัฒน์ในฐานะส่วนตัวออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบ แต่งดออกเสียงลงคะแนนในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอุดม ตามสำเนารายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น วันที่ 3 เมษายน 2555 จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการ ตามสำเนาคำขอจดทะเบียน ต่อมาภายหลังจากโจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทรับจดทะเบียนตามคำขอของจำเลย ตามสำเนาหนังสือรับรอง สำหรับประเด็นเรื่องผู้ถือหุ้นของจำเลยมีหนังสือร้องขอให้คณะกรรมการของจำเลยเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2555 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ และประเด็นเรื่องผู้ถือหุ้นของจำเลยมีหนังสือเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2555 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองว่า หนังสือร้องขอให้คณะกรรมการของจำเลยเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2555 และหนังสือเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าวชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1173 และมาตรา 1174
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า นายประพัฒน์นำหุ้นมรดกของนายอุดมเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2555 เป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของนายอุดม ตกเป็นโมฆะ ทำให้มีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมด จึงไม่ครบองค์ประชุมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า นายประพัฒน์นำหุ้นมรดกของนายอุดมเข้าร่วมประชุมเป็นการใช้สิทธิตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก และได้งดออกเสียงลงคะแนนในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอุดม ไม่ได้จำหน่าย จ่าย โอน หรือกระทำการเสียหายแก่หุ้นมรดก หาเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกับปัญหาตามคำแก้ฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า นายประพัฒน์นำหุ้นมรดกของนายอุดมเข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2555 โดยโจทก์ทั้งสามไม่ยินยอม และลงมติในที่ประชุมขัดกับมติของโจทก์ทั้งสาม ทำให้นายประพัฒน์ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยแทนโจทก์ที่1 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามแก้ฎีกาว่า นายประพัฒน์ใช้สิทธิในหุ้นมรดกของนายอุดมลงมติขัดต่อมติของโจทก์ทั้งสามเพื่อให้ตนได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่ตนเพียงผู้เดียว ทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยอีกต่อไปโดยโจทก์ทั้งสามไม่ยินยอม เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 และมาตรา 421 เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้ หรือได้รับอนุญาตจากศาล” การที่นายประพัฒน์ในฐานะผู้จัดการมรดกนำหุ้นมรดกของนายอุดมเข้าร่วมเป็นองค์ประชุมผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ทั่วไปของผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1719 และมาตรา 1723 และการกระทำเช่นนี้ไม่ใช่การทำนิติกรรมตามมาตรา 1722 นายประพัฒน์จึงมีอำนาจกระทำได้ ไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวและไม่ตกเป็นโมฆะ นอกจากนี้นายประพัฒน์เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทย่อมมีสิทธินำหุ้นมรดกของนายอุดมไปเข้าร่วมเป็นองค์ประชุมผู้ถือหุ้นได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของนายอุดม เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ได้มีลักษณะเป็นตัวแทนของทายาท เนื่องจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ลักษณะมรดก ให้นำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะตัวแทนมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น สำหรับการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุม ข้อเท็จจริงได้ความว่านายประพัฒน์ออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบในฐานะส่วนตัว แต่งดออกเสียงลงคะแนนในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอุดม และในการประชุมก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ถือหุ้นคนใดเสนอให้ที่ประชุมพิจารณามีมติแต่งตั้งโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 นายปรีดา และนายณัฐชัย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลย ทั้งการที่โจทก์ที่ 1 ถูกถอดถอนอำนาจกระทำการแทนจำเลย แล้วให้นายประพัฒน์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยนั้น เกิดจากการลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้น มิได้เกิดจากการออกเสียงลงคะแนนของนายประพัฒน์ในฐานะผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด เพราะนายประพัฒน์ได้งดออกเสียงลงคะแนน การกระทำของนายประพัฒน์จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นตามมาตรา 5 และมาตรา 421 ดังนั้น เมื่อการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2555 มีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นนับจำนวนหุ้นได้ 142,876 หุ้น ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนหุ้นทั้งหมด 250,000 หุ้น ครบองค์ประชุมตามข้อบังคับของจำเลย การประชุมและมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าวชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ส่วนคำแก้ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share