แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หญิงมีสามีกู้เงินโดยไม่ได้รับความยินยอมของสามีสัญญานั้นเป็นโมฆียะ เมื่อสามีบอกล้างนิติกรรมนั้นแล้วหญิงก็ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวซึ่งเจ้าหนี้ฟ้องขอแยกสินบริคณห์เพื่อเอาชำระหนี้ได้
เมื่อคดีไม่ปรากฎว่าเป็นสามีภรรยากันมาก่อนหรือหลังใช้ประมวลแพ่งฯ บรรพ 5 ศาลย่อมแบ่งสินสมรสให้สามีภรรยานั้นคนละครึ่ง.
ย่อยาว
ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๑-๒ ใช้เงินกู้แก่โจทก์แล้วโจทก์ยึดทรัพย์จำเลยที่ ๓-๔ ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ ๑-๒ ร้องขัดทรัพย์ว่าจำเลยที่ ๑-๒ กู้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากคนและตนได้บอกล้างนิติกรรมกู้แล้ว ศาลจึงสั่งสอนการยึด โจทก์จึงมาฟ้องคดีขอให้แยกสินบริคณห์ส่วนของจำเลยที่ ๑ กับที่ ๓ คนละกึ่ง ส่วนของจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ คนละกึ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีดังฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการขอแยกสินบริคณห์ชำระหนี้ของภรรยาได้นั้นเฉพาะแต่หนี้ตาม ม.๓๙ และ ๔๑ เท่านั้น หนี้รายนี้ไม่ใช่หนี้ตามมาตรานั้น จึงขอแยกสินบริคณห์ไม่ได้ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าหญิงมีสามีเป็นบุคคลบรรลุนิติภาวะแล้ว นิติกรรมที่ทำขึ้นจึงผูกพันหญิงได้ตาม ป.ม.แพ่งฯ ม.๓๗ และตามมาตรา ๑๔๘๓ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิขอให้แยกสินบริคณห์ออกเป็นสินส่วนตัวของหญิงเพื่อบังคับคดีได้ โดยมิได้มีข้อจำกัดว่า จะต้องเป็นกรณีย์ที่หญิงก่อนหนี้ขึ้นตาม ม.๓๙ และ ๔๑ และที่ศาลชั้นต้นให้แบ่งแยกสินบริคณห์เป็น ๒ ส่วน เป็นของภรรยา ๑ ส่วนก็ชอบแล้ว เพราะทางพิจารณาไม่ปรากฎว่า คดีอยู่ในบังคับกฎหมายลักษณะผัวเมียอันจะต้องแบ่งแยกเป็นของสามี ๒ ส่วน ภรรยา ๑ ส่วน จึงพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ยืนตามศาลชั้นต้น