คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2606/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์อาจยื่นฟ้องจำเลยทุกกระทงความผิดเป็น สำนวนเดียว กันได้ ซึ่ง ศาลลงโทษจำคุกจำเลยได้ ไม่เกินยี่สิบปี ตาม ป.อ.มาตรา 91(2) แม้โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นสองสำนวน และ ขอให้นับโทษต่อ กัน แต่ เมื่อรวมโทษจำคุกที่จำเลยจะได้ รับแล้วก็ต้อง ไม่เกินยี่สิบปี เมื่อคดีนี้ศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมโดย จำคุกจำเลยเต็ม ตาม ที่กำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา 91(2) แล้ว ศาลจะนับโทษ จำเลยต่อ จากคดีแรกของศาลชั้นต้นอีกไม่ได้.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 335 และ 341ที่แก้ไขแล้ว ฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมรวม 51 กระทง จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 8 ปี 6 เดือน ฐานปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอมและฉ้อโกง ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 รวม 25 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 12 ปี 6 เดือน ฐานลักทรัพย์รวม 19 กระทงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 19 ปี ฐานฉ้อโกงรวม 20 กระทง จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 5 ปี รวมโทษจำคุกทุกกระทงมีกำหนด44 ปี 12 เดือน จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 22 ปี 6 เดือน เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(2) ที่แก้ไขแล้ว ห้ามมิให้ลงโทษจำคุกเกิน 20 ปี จึงให้จำคุกจำเลยไว้ 20 ปี นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2390/2528 ของศาลชั้นต้น
จำเลยยื่นคำร้องว่า คดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2390/2528ที่ศาลชั้นต้นให้นับโทษต่อเป็นความผิดซึ่งเกิดในคราวเดียวกัน ลักษณะและพฤติการณ์แห่งคดีเหมือนกัน เจ้าพนักงานจับกุมในคราวเดียวกันผู้เสียหายเป็นบุคคลคนเดียวกัน ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นับโทษจำเลยใหม่ โดยเมื่อนับโทษจำเลยติดต่อกันทั้ง 2 คดีแล้ว ต้องไม่เกิน20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2)
ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาซึ่งอ่านแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 190 ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ไม่ให้นับโทษจำคุกจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2390/2528 ของศาลชั้นต้น และให้นับโทษจำคุกจำเลยคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2530 เป็นต้นไปให้หักวันที่จำเลยถูกคุมขังในคดีนี้มาแล้ว 76 วันออกให้
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามฎีกาของจำเลยซึ่งโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้แก้ฎีกาคัดค้านฟังได้ว่า คดีนี้กับคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้นับโทษต่อคือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2390/2528 ของศาลชั้นต้นเป็นความผิดซึ่งเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน ลักษณะและพฤติการณ์แห่งคดีเหมือนกัน เจ้าพนักงานจับกุมในคราวเดียวกันและผู้เสียหายเป็นบุคคลเดียวกัน กับทั้งความผิดทั้งสองสำนวนเกิดขึ้นและปรากฏต่อพนักงานสอบสวนก่อนวันที่ 8 มีนาคม 2528 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยถูกจับกุมในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2390/2528 ของศาลชั้นต้น ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ควรให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2528 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยถูกขังในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2390/2528 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ความผิดของจำเลยทั้งสองสำนวนนี้เกี่ยวพันกัน และความผิดในคดีนี้ปรากฏต่อพนักงานสอบสวนก่อนโจทก์ฟ้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2390/2528ของศาลชั้นต้นแล้ว เห็นได้ว่าโจทก์อาจยื่นฟ้องจำเลยทุกกระทงความผิดเป็นสำนวนเดียวกันได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ศาลลงโทษจำคุกจำเลยได้ไม่เกินยี่สิบปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2) ดังนั้น แม้ว่าโจทก์จะแยกฟ้องจำเลยเป็นสองสำนวนและขอให้นับโทษต่อกันก็ตามแต่เมื่อรวมโทษจำคุกที่จำเลยจะได้รับแล้วก็ต้องไม่เกินยี่สิบปีตามนัยของบทกฎหมายดังกล่าว และเมื่อคดีนี้ศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยเต็มตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2)แล้ว ศาลจะนับโทษจำเลยต่อจากคดีแรกคือ คดีอาญาหมายเลขแดงที่2390/2528 ของศาลชั้นต้นอีกไม่ได้ แต่ปรากฏจากคำฟ้องว่าระหว่างสอบสวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัวในคดีนี้ โดยถูกคุมขังอยู่ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2390/2528 ของศาลชั้นต้น เพราะฉะนั้นในการคำนวณระยะเวลาจำคุกในคดีนี้ก็ต้องหักจำนวนวันที่จำเลยถูกคุมขังในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2390/2528 ของศาลชั้นต้น จากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษาในคดีนี้ ทั้งนี้เพื่อมิให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกเกินกำหนดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(2) ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้หักวันที่จำเลยถูกคุมขังในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2390/2528 ของศาลชั้นต้น ก่อนที่จะถูกคุมขังในคดีนี้ให้ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.

Share