คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แม้จะได้ทำกันไว้ก่อนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ใช้บังคับก็เป็นข้อตกลงที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 160วรรคสอง
การที่นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานโดยไม่ได้กระทำความผิด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 46 นั้น เป็นหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งนายจ้างจะต้องปฏิบัติมิใช่เป็นเรื่องตกลงประนีประนอมยอมความ และเป็นคนละกรณีกับกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้าง ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518มาตรา41(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ช.ลูกจ้างโจทก์ ร่วมกับลูกจ้างคนอื่น ๆ เรียกร้องขอเพิ่มเงินค่าจ้าง แต่ตกลงกันได้โดยทำบันทึกข้อตกลงกันเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2518ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม 2518 โจทก์ประกาศเลิกจ้างคนงานบางส่วนรวมทั้ง ช.เนื่องจากลักษณะของงานและความจำเป็น โดยโจทก์ได้จ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ให้แล้ว วันที่ 9ตุลาคม 2518 ช. กับพวก 4 คนยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม คณะกรรมการพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหาย 10,400 บาทให้แก่ ช. โจทก์เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อตกลงเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2518 ทำขึ้นก่อนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ใช้บังคับ กรณีจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้ง ช.ได้รับเงินค่าชดเชยไปแล้วโดยมิได้โต้แย้งถือว่าได้ตกลงประนีประนอมยอมความกันในเรื่องค่าเสียหายเกี่ยวกับการเลิกจ้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคำร้อง หากมีก็วินิจฉัยไม่ถูกต้อง ควรหักเงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าชดเชยออกเสียก่อน ขอให้พิพากษาว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นโมฆะ

จำเลยทั้ง 15 คนให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ช. ถูกโจทก์หาเหตุปลดออกจากงานเพราะ ช. มีส่วนเรียกร้องข้อตกลงเพิ่มค่าจ้าง มิใช่เพราะโจทก์ใกล้จะหมดงาน เป็นการผิดเงื่อนไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำกันไว้เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2518 ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่ ช.ได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41(4)

ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ได้ 1 ปากแล้วสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยพิพากษาว่าคำสั่งที่ 1/2519 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 ที่ 2

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำสั่งที่ 1/2519 ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงจำเลยที่ 15 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ช.ได้ร่วมเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 121 แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับลูกจ้างจะทำกันไว้ก่อนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518ใช้บังคับ ก็เป็นข้อตกลงที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด ได้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 160 วรรคสอง การที่โจทก์เลิกจ้าง ช. จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องของ ช. ได้ และการที่โจทก์ได้เคยจ่ายเงินให้แก่ ช. ไปแล้วนั้น เป็นการจ่ายเงินในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานโดยไม่ได้กระทำความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ซึ่งเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตาม มิใช่เป็นเรื่องตกลงประนีประนอมยอมความกัน และเป็นคนละกรณีกับกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41(4) จึงจะนำค่าชดเชยที่โจทก์จ่ายให้ ช. ไปแล้วมาหักออกจากค่าเสียหายไม่ได้คำสั่งที่ 1/2519 ของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบด้วยกฎหมาย

พิพากษายืน

Share