คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2587/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การติดตั้งส่วนควบที่จะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน มาตรา 13 นั้นจะต้องเป็นการติดตั้งในโรงเรือนและเป็นส่วนควบที่สำคัญสำหรับเครื่องจักรผสมคอนกรีตของโจทก์ ติดตรึงถาวรกับพื้นดินไม่ได้ติดตั้งในโรงเรือน และเครื่องจักรผสมคอนกรีตก็ไม่ใช่โรงเรือน เป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นเท่านั้น ดังนั้นการประเมินภาษีโรงเรือนจึงไม่อาจลดค่ารายปีลงตามมาตรานี้ได้ โรงเรือนสำนักงาน แม้จะใช้เป็นที่ควบคุมการทำงานของเครื่องจักรผสมคอนกรีตโดยมีแผงควบคุมการทำงานติดตั้งอยู่ในอาคารดังกล่าว แต่การผลิตคอนกรีตผสมเสร็จนั้นความสำคัญอยู่ที่เครื่องจักรผสมคอนกรีต ฉะนั้นแม้แผงควบคุมการทำงานจะเป็นส่วนควบของโรงเรือนอันเป็นสำนักงาน ก็หาใช่เป็นส่วนควบที่สำคัญเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ไม่ จึงไม่อาจลดค่ารายปีลงตามมาตรา 13 ได้เช่นเดียวกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2530 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ประจำปี พ.ศ. 2530ต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 เพื่อให้กำหนดค่ารายปีและประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนประจำปี พ.ศ. 2530 สำหรับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ตั้งอยู่เลขที่ 16/1 ถนนมไหสวรรย์ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2530โจทก์ได้รับใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.8)ประจำปี พ.ศ. 2530 จากเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่ารายปีให้โจทก์ไปเสียภาษีโรงเรือน รวม 8 รายการคิดเป็นเงินภาษี 57,487.50 บาท
โจทก์ไม่เป็นพ้องด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยโจทก์จึงได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2530ขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินแสียใหม่ รวม 4 รายการต่อมาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2531 โจทก์ได้รับใบแจ้งคำชี้ขาด(ภ.ร.ด.11) จากจำเลยที่ 2 โดยวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนตามที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินไว้ทุกรายการ โดยไม่ให้โจทก์ได้รับลดหย่อนภาษีแต่ประการใด โจทก์เห็นว่าการประเมินภาษีโรงเรือนของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1และคำชี้ขาดคำร้องของจำเลยที่ 2 ยังคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือ โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างประเภทติดตั้งเครื่องจักรใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้า อันเป็นส่วนควบกับอาคารโรงเรือนนั้น เข้าลักษณะได้รับการลดหย่อนค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามก่อนคิดคำนวณภาษี มีอยู่ทั้งสิ้น3 รายการ คือ รายการที่ 1 โมบายออฟฟิศ รายการที่ 3 โรงคุมสายพานลำเลียงปูนซิเมนต์ และรายการที่ 8 ประเมินที่วางเครื่องจักรผสมคอนกรีต แต่จำเลยเรียกเก็บภาษีทั้ง 3 รายการไป โดยไม่ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในส่วนก่อนคำนวณภาษี จึงเรียกภาษีเกินไป
ส่วนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างประเภทที่มีพื้นที่เป็นที่ดินต่อเนื่องกันคือ รายการที่ 2 สำนักงานขายบุคคโล (ตามคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่เป็นรายการที่ 2) ซึ่งมีเนื้อที่ 56.25ตารางเมตรนั้น เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีเป็นจำนวนทั้งสิ้น 364,140 บาท คิดค่าภาษี 45,517.50 บาท ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้นำเนื้อที่ของที่ดินทั้งหมดซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนอื่นทุกรายการ รวม 4,090.99ตารางเมตร มารวมเข้ากับเนื้อที่ของโรงเรือนรายการที่ 2 แล้วนำไปประเมินค่าภาษีซึ่งได้ค่ารายปีในอัตรา 87.80 บาท ต่อตารางเมตรโจทก์เห็นว่าการที่เจ้าพนักงานทำการประเมินภาษีที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนทั้งหมดโดยนำมาคิดรวมไว้กับโรงเรือนรายการหนึ่งรายการใดเพียงรายการเดียว ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากโรงเรือนทุกรายการที่ถูกประเมินต่างย่อมมีที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนสำหรับโรงเรือนนั้น ๆ ด้วย เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยควรเฉลี่ยพื้นที่ของที่ดินทั้งหมดซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนสำหรับโรงเรือนทุกรายการตามสัดส่วนของพื้นที่ของโรงเรือน ขอให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ตามแบบแจ้งการประเมินภาษี (ภ.ร.ด.8) ประจำปี พ.ศ. 2530เล่มที่ 24 เลขที่ 23 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2530 และเพิกถอนใบแจ้งคำชี้ขาด (ภ.ร.ด.11) ของจำเลยที่ 2 เล่มที่ 9 เลขที่ 2 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2531 กับคืนเงินภาษีโรงเรือนให้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 46,438.11 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ภาษีโรงเรือนของโจทก์ตามแบบ ภ.ร.ด.2ประจำปี พ.ศ. 2530 ในรายการที่ 1 ซึ่งเป็นสำนักงาน (โมบายออฟฟิศ)มีลักษณะเป็นโรงไม้ชั้นเดียว ภายในโรงเรือนมีเครื่องลักษณะคล้ายเครื่องบังคับไฟตั้งอยู่ เครื่องดังกล่าวมีระบบการสั่งงานและบังคับการทำงานของเครื่องผสมปูนซิเมนต์ (ผสมคอนกรีต) ในรายการที่ 8การตั้งของเครื่องบังคับดังกล่าว ก็มิได้มีสภาพและลักษณะการใช้งานอันเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนินสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมโรงเรือน รายการที่ 3 มีลักษณะเป็นโรงชั้นเดียวไม่มีฝาผนังภายในโรงมีเครื่องเดินสายพานสำหรับใช้ลำเลียงปูนซิเมนต์ตั้งอยู่ การติดตั้งมิได้มีลักษณะเป็นการติดตั้งส่วนควบที่สำคัญของโรงเรือนประกอบกับเครื่องดังกล่าวมิได้มีสภาพเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำ หรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมส่วนโรงเรือนรายการที่ 8 นั้น มิได้มีลักษณะเป็นโรงเรือน เป็นแต่เพียงบริเวณที่วางเครื่องผสมปูนซิเมนต์(ผสมคอนกรีต) และการติดตั้งเครื่องดังกล่าวก็มิได้เป็นส่วนควบของโรงเรือนใด อีกทั้งไม่มีลักษณะเป็นเครื่องเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรม โจทก์จึงมิได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนค่ารายปีสำหรับรายการที่ 1, 3 และ 8 ลงเหนือหนึ่งในสามก่อนคิดคำนวณภาษีการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของเจ้าพนักงานประเมินในรายการที่ 1, 3 และ 8 ตามแบบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด.8) เล่มที่ 24เลขที่ 23 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2530 และคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ต้องชำระภาษีตามผลการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน จึงเป็นการชอบแล้ว
การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประจำปี พ.ศ. 2530 ในส่วนของพื้นที่ดินต่อเนื่องกับโรงเรือนนั้น ไม่ว่าใช้วิธีการคำนวณโดยเฉลี่ยพื้นที่ต่อเนื่องไปตามสัดส่วนของโรงเรือนทุกรายการหรือจะใช้วิธีคำนวณโดยนำพื้นที่ต่อเนื่องทั้งหมดไปรวมกับพื้นที่ของโรงเรือนรายการใดรายการหนึ่งก็ตาม ผลการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินในที่ดินแปลงนั้นทั้งหมดจะมีผลรวมเป็นจำนวนเงินที่เท่ากันเพราะจำนวนพื้นที่ดินต่อเนื่องทั้งหมดมีจำนวนคงที่และมีค่ารายปีในอัตราเฉลี่ยต่อตารางเมตรเป็นจำนวนเงินที่เท่ากัน และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินในรายการที่ 2ตามวิธีที่โจทก์อ้าง การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินในรายการที่ 1, 3, 4, 5, 6, 7 และ 8 ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยประเมินภาษีเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินภาษีของพื้นที่ดินต่อเนื่องที่เฉลี่ยได้ตามสัดส่วนของโรงเรือนแต่ละรายการนั้น รวมเป็นเงิน 39,556.65 บาทด้วย การเปลี่ยนแปลงวิธีการดังกล่าวจึงไม่มีผลกระทบให้โจทก์ต้องเสียประโยชน์หรือได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด โจทก์ยังคงต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินปี พ.ศ. 2530 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 57,487.50 บาท ตามแบบแจ้งการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลย การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินในรายการที่ 2 โดยวิธีนำเอาพื้นที่ดินต่อเนื่องของโรงเรือนทุกรายการมารวมกับพื้นที่ของโรงเรือนรายการที่ 2 ตามผลประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการชอบแล้ว
เมื่อการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยในรายการที่ 1, 2, 3 และ 8ชอบด้วยข้อเท็จจริงตามข้อกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าภาษี จำนวน 46,438.11 บาท คืนจากจำเลยทั้งสอง และก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองเนื่องจากต้องห้ามตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 39
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ตามแบบแจ้งรายการประเมินภาษี (ภ.ร.ด.8)ประจำปี พ.ศ. 2530 เล่มที่ 24 เลขที่ 23 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์2530 เฉพาะแต่โรงเรือนรายการที่ 1 รายการที่ 3 และรายการที่ 8กับเพิกถอนคำชี้ขาด (ภ.ร.ด.11) ของจำเลยที่ 2 เล่มที่ 9 เลขที่ 2ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2531 เฉพาะแต่ในส่วนที่เกี่ยวกับโรงเรือนพิพาทรายการที่ 1 รายการที่ 3 และรายการที่ 8 ตามแบบ ภ.ร.ด.8เท่านั้น กับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 5,100 บาท แก่โจทก์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ถ้าไม่คืนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันครบกำหนด 3 เดือนนับจากวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนคำขออื่นของโจทก์ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร วินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับวัสดุที่ใช้หรือเกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างคอนกรีต และคอนกรีตเสริมเหล็กโดยใช้เครื่องจักรผสมคอนกรีตรายการที่ 8 ซึ่งติดตั้งตรึงตรากับพื้นดินตามภาพถ่ายหมาย จ.6 แผ่นที่ 1 และ 2 หรือหมาย ล.1 แผ่นที่ 7 ในการผสมคอนกรีตดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของพนักงานโจทก์ซึ่งอยู่ในอาคารสำนักงานโรงเรือนรายการที่ 1 ตามภาพถ่ายหมาย ล.1 แผ่นที่ 6 ในอาคารสำนักงานรายการที่ 1 นี้มีแผงควบคุมการทำงานและมีปุ่มกดควบคุมให้ได้หิน ทราบ ปูนและน้ำตามที่ต้องการเพื่อผสมคอนกรีตในเครื่องจักรรายการที่ 8 ส่วนโรงคุมสายพานลำเลียงปูนซิเมนต์รายการที่ 3ตามภาพถ่ายหมาย จ.6 แผ่นที่ 3 หรือ ล.1 แผ่นที่ 5 ได้ก่อสร้างเป็นโรงเรือนมีโครงเหล็กตรึงตรากับพื้นดิน มีหลังคาคลุมและด้านข้างมีกระเบื้องทำเป็นฝาทั้งสองข้าง นอกนั้นโปร่ง ภายในโรงเรือนดังกล่าวมีพื้นซิเมนต์และมีโครงเหล็กสำหรับแขวนสายพานลำเลียงปูนซิเมนต์ตรึงตรากับพื้นคอนกรีต สายพานลำเลียงปูนซิเมนต์ทำงานด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้ายึดกับโครงเหล็กมีรอกแขวนสายพานด้วยโซ่และตะขอตัวรอกกับตะขอสามารถถอดออกได้เมื่อเวลาไม่ใช้สายพาน
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โรงคุมสายพานลำเลียงปูนซิเมนต์รายการที่ 3โครงเหล็กภายในโรงเรือนยึดกับสายพานลำเลียงปูนซิเมนต์โดยมีตัวรอกแขวนกับโครงเหล็ก ถัดจากตัวรอกมีตะขอเกี่ยวกับโซ่สายพาน และสายพานกับโครบเหล็นนั้นสามารถแยกจากกันได้จึงไม่เป็นส่วนควบที่สำคัญ และสายพานดังกล่าวมิได้เป็นเครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรม นั้น เห็นว่าจำเลยหยิบยกเฉพาะข้อเท็จจริงบางส่วนขึ้นกล่าวอ้างเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนว่า สภาพโครงสร้างของโรงเรือนมีพื้นเป็นคอนกรีต สามารถรองรับน้ำหนักปูนซิเมนต์ถุงที่เคลื่อนตามสายพานไปลงที่รถ ลักษณะการติดตั้งเช่นนี้ไม่น่าจะมีลักษณะชั่วคราว จำเลยมิได้หยิบยกขึ้นกล่าวด้วย อุทธรณ์ของจำเลยเช่นนี้เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลภาษีอากรกลางจึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง และคดีนี้มีทุนทรัพย์พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 25 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปมีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2เฉพาะรายการที่ 1 สำนักงาน และรายการที่ 8 บริเวณที่วางเครื่องจักรผสมคอนกรีตโดยไม่ลดค่ารายปีให้โจทก์ลงเหลือหนึ่งในสามนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ พ.ศ. 2475มาตรา 13 บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าของโรงเรือนใดติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนินสินค้าเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรม ฯลฯ ขึ้นในโรงเรือนนั้น ๆในการประเมินท่านให้ลดค่ารายปีลงเหหลือหนึ่งในสาม… ฯลฯ ตามนี้จะเห็นได้ว่า เครื่องจักรกลไก เครื่องกระทำหรือเครื่องกำเนินสินค้าที่ติดตั้งนั้นต้องติดตั้งในโรงเรือนและเป็นส่วนควบที่สำคัญจึงจะได้รับประโยชน์จากมาตรานี้ สำหรับรายการที่ 8 บริเวณที่วางเครื่องจักรผสมคอนกรีต ตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางฟังมาและศาลฎีกาจำต้องถือตามปรากษว่า เครื่องจักรผสมคอนกรีตของโจทก์ติดตรึงตราถาวรกับพื้นดิน ไม่ได้ติดตั้งในโรงเรือน จึงไม่มีข้อพิจารณาว่า โรงเรือนได้ติดตั้งเครื่องจักรผสมคอนกรีตเป็นส่วนควบที่สำคัญหรือไม่ และเครื่องจักรผสมคอนกรีตก็ไม่ใช่เป็นโรงเรือนเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ๆ เท่านั้น ดังนี้แม้โจทก์จะติดตั้งเครื่องจักรกลไก เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตคอนกรีตผสมเสร็จก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามก่อนคำนวณภาษีส่วนโรงเรือนรายการที่ 1 สำนักงาน แม้จะใช้เป็นที่ควบคุมการทำงานของเครื่องจักรผสมคอนกรีตมีแผงควบคุมการทำงานโดยมีปุ่มที่พนักงานของโจทก์คอยกดบังคับให้เครื่องจักรผสมคอนกรีตทำงานและติดตั้งอยู่ในอาคารดังกล่าวก็เห็นได้ว่า การผลิตคอนกรีตผสมเสร็จความสำคัญอยู่ที่เครื่องจักรผสมคอนกรีต ฉะนั้นแม้แผงควบคุมการทำงานของเครื่องจักรผสมคอนกรีตจะเป็นส่วนควบของโรงเรือนอันเป็นสำนักงาน ก็หาใช่เป็นส่วนควบที่สำคัญเพื่อใช้ดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ไม่ การประเมินภาษีโรงเรือนสำหรับรายการที่ 1 สำนักงานและบริเวณที่วางเครื่องจักรผสมคอนกรีตรายการที่ 8 จึงลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามตามมาตรา 13แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ไม่ได้…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ตามแบบแจ้งรายการประเมินภาษี(ภ.ร.ด.8) ประจำปี พ.ศ. 2530 เล่มที่ 24 เลขที่ 23 ลงวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2530 เฉพาะโรงเรือนรายการที่ 1 และรายการที่ 8กับที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด (ภ.ร.ด.11) ของจำเลยที่ 2 เล่มที่ 9เลขที่ 2 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2531 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับโรงเรือนรายการที่ 1 และรายการที่ 8 ตามแบบ ภ.ร.ด. 8 เสียด้วย ให้จำเลยที่ 1คืนเงิน 1,800 บาทแก่โจทก์ภายในกำหนดสามเดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด มิฉะนั้นให้จำเลยที่ 1 เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันครบกำหนดสามเดือนนับจากวันที่คำพิพากษาถึงที่สุดจนถึงวันชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง.

Share