แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อความในบันทึกคำรับสารภาพชั้นจับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนมิได้กล่าวถึงการกระทำใด ๆ ที่เป็นการร่วมกระทำผิดของจำเลยที่ 2 คงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 รู้ถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่าจะไปชิงทรัพย์ผู้ตาย และขณะที่จำเลยที่ 1 ล็อกคอผู้ตาย จำเลยที่ 2 ก็รีบปลีกตัวออกไปจากที่เกิดเหตุพฤติการณ์เช่นนี้จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมเป็นตัวการในการชิงทรัพย์ผู้ตายร่วมกับจำเลยที่ 1 เพราะมิได้แบ่งหน้าที่กันทำความผิด ส่วนข้อที่ว่าได้มีการนัดหมายระหว่างจำเลยทั้งสองว่าหากจำเลยที่ 1 ลงมือกระทำผิดขณะใดให้จำเลยที่ 2 หลบไปนั้น ก็มิใช่การร่วมมือหรือเป็นการกระทำผิดในทางอาญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90, 289(7), 339
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคท้าย, 289(7) เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม มาตรา 289(7) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้วางโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกตลอดชีวิต ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้อง แต่คดีส่วนของจำเลยที่ 1 โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ไปยังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษจำเลยที่ 1 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (ที่ถูกมาตรา 52(1))จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้ายให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาขึ้นมาเป็นที่ยุติไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้ว คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 แต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์อ้างว่าในชั้นจับกุมและสอบสวน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับและพนักงานสอบสวน มีรายละเอียดตามบันทึกชั้นจับกุม และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ได้ตรวจบันทึกคำรับสารภาพในชั้นจับกุมแล้ว จำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำว่า จำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีชวนจำเลยที่ 2ไปพบผู้ตายเรื่องเงิน เพราะจำเลยที่ 1 ต้องการจะชิงทรัพย์ผู้ตายเมื่อจำเลยทั้งสองและผู้ตายเดินเข้าไปในซอย 10/5 ซึ่งเป็นที่เปลี่ยวจำเลยที่ 1 ก็ล็อกคอผู้ตาย จำเลยที่ 2 จึงรีบเดินหลบออกมาทางปากซอยก่อน ส่วนบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนสรุปเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุได้ว่า จำเลยทั้งสองและผู้ตายโดยสารรถยนต์รับจ้างสาธารณะไปลงที่ปากซอย 10/5 แล้วพากันเดินเข้าไปในซอย ผู้ตายเดินนำหน้าจำเลยที่ 1 เดินตามเป็นคนที่สอง ส่วนจำเลยที่ 2 เดินอยู่หลังสุดขณะนั้นจำเลยที่ 1 ใช้มือขวาล็อกคอผู้ตายแล้วดึงตัวผู้ตายเข้าไปข้างทาง จำเลยที่ 2 เห็นดังนั้นจึงเดินย้อนกลับออกมาทางด้านปากซอย10/5 ตามที่ได้นัดแนะไว้กับจำเลยที่ 1 ต่อมาอีกประมาณ 1 ชั่วโมงจำเลยที่ 1 จึงตามออกมาและบอกจำเลยที่ 2 ว่าผู้ตายตายแล้วซึ่งจำเลยที่ 2 แสดงความเห็นว่า ทำไมถึงทำขนาดนั้น แม้จะรับฟังได้ว่าบันทึกคำรับสารภาพและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2ได้ทำขึ้นโดยชอบ แต่ข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวก็มิได้กล่าวถึงการกระทำใด ๆ ที่เป็นการร่วมกระทำผิดของจำเลยที่ 2คงได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 รู้ถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่าจะไปชิงทรัพย์ผู้ตายและขณะที่จำเลยที่ 1 ล็อกคอผู้ตาย จำเลยที่ 2 ก็รีบปลีกตัวออกมาจากที่เกิดเหตุ พฤติการณ์ที่ปรากฏในคดีเช่นนี้ เห็นว่าจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมเป็นตัวการในการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ผู้ตายร่วมกับจำเลยที่ 1 เพราะมิได้มีการแบ่งหน้าที่กันทำความผิด ส่วนข้อที่ว่าได้มีการนัดหมายระหว่างจำเลยทั้งสองว่าหากจำเลยที่ 1ลงมือกระทำผิดขณะใดให้จำเลยที่ 2 หลบไปนั้น ก็มิใช่การร่วมมือหรือเป็นการกระทำผิดในทางอาญาเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์