คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2583/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์และสั่งไล่โจทก์ออกจากงานนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่โจทก์ฟ้องจำเลยในลักษณะละเมิด มิได้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และขณะที่เกิดกรณีอันเป็นมูลเหตุแห่งคดีนี้ก็ยังไม่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522ซึ่งมี มาตรา 49 ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างเข้าทำงานตามเดิมได้ โจทก์จึงสมควรได้แต่ค่าเสียหาย เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายโดยคำนวณเป็นรายเดือนไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์เข้าทำงานตามเดิมซึ่งไม่อาจบังคับได้ศาลจึงต้องกำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างขององค์การค้าของคุรุสภา และเป็นกรรมการสภาพแรงงานองค์การของคุรุสภา องค์การค้าของคุรุสภาจำเลยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบสวนแล้วมีคำสั่งให้โจทก์พักงานและไล่โจทก์ออกจากงานโดยอ้างว่าโจทก์ทำผิดวินัยซึ่งไม่เป็นความจริงที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ทำผิดวินัยนั้นก็โดยอาศัยเหตุที่โจทก์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับในข้อหาว่ามีพฤติการณ์ซึ่งเป็นภัยต่อสังคมตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฐานยุยง ปลุกปั่น ใช้หรือสนับสนุนให้ประชาชนก่อความวุ่นวายหรือก่อความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง ข้อหาดังกล่าวเป็นข้อหาตามคำสั่งของคณะปฏิรูปฯ ซึ่งมิได้มีการพิจารณาตัดสินโดยศาลสถิตยุติธรรม การควบคุมตัวดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาอันจะถือว่าโจทก์ได้กระทำความผิดและต้องโทษทางอาญาซึ่งเป็นการผิดวินัยตามระเบียบคุรสภาฯการที่โจทก์ไม่ได้ไปทำงานนั้นเป็นเพราะโจทก์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไว้ตามคำสั่งดังกล่าว ซึ่งจำเลยก็ทราบแล้ว โจทก์มิได้จงใจขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่การงานแต่อย่างใด โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นจริงหรือไม่ เพราะโจทก์ไม่เคยถูกเรียกไปสอบปากคำ หากได้ตั้งขึ้นจริงก็ทำการสอบสวนล้าหลังโจทก์ไม่เปิดโอกาสให้โจทก์ได้แก้ข้อกล่าวหา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบแบบแผนและความยุติธรรมโจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในฐานะประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภาแล้ว แต่ประธานกรรมการฯ ได้ยกอุทธรณ์โจทก์ได้รับความเสียหายโดยต้องออกจากการเป็นลูกจ้างขององค์การค้าของคุรุสภาขาดเงินเดือนรายได้ เหตุที่โจทก์ต้องถูกควบคุมตัวในข้อหาว่าเป็นภัยต่อสังคมและถูกไล่ออกจากงานก็เพราะโจทก์เคยร่วมเรียกร้องให้จัดตั้งสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาตามกฎหมายแรงงาน และเคยร่วมเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของลูกจ้างองค์การของคุรุสภาตามกฎหมายแรงงาน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนได้นัดหยุดงานกันตามกฎหมาย ในที่สุดองค์การค้าของคุรุสภาจึงได้ยอมให้สิทธิอันชอบธรรมแก่คนงานตามกฎหมาย จำเลยจึงหาเหตุกลั่นแกล้งโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งองค์การค้าของคุรุสภาจำเลยเรื่องพักงานโจทก์และเรื่องไล่โจทก์ออกจากงาน ให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานตามเดิม กับให้จำเลยชดใช้เงินเดือนตั้งแต่วันที่โจทก์ถูกพักงานจนกว่าจะรับโจทก์เข้าทำงานตามเดิม

จำเลยให้การว่า จำเลยได้รับหนังสือจากตำรวจสันติบาลว่าได้จับกุมตัวโจทก์ในข้อหา ยุยง ปลุกปั่น ใช้ หรือสนับสนุนให้ประชาชนก่อความวุ่นวายหรือก่อความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง จำเลยได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนทางวินัยคณะกรรมการสอบสวนเสนอให้พักงานโจทก์ แล้วต่อมาตำรวจสันติบาลแจ้งว่าได้ส่งตัวโจทก์ไปยังสถานอบรมและฝึกอาชีพแล้ว คณะกรรมการสอบสวนจึงมีความเห็นว่า โจทก์กระทำผิดวินัยเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา ควรไล่โจทก์ออกจากหน้าที่การงานตั้งแต่วันพักงานเป็นต้นไป จำเลยเห็นชอบด้วยจึงมีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากหน้าที่การงานฐานผิดวินัย การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและการดำเนินการสอบสวนได้ปฏิบัติไปตามขั้นตอน และระเบียบแบบแผน จำเลยมิได้มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ไม่เป็นการละเมิด โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยเห็นชอบด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนที่ให้พักงานโจทก์นั้น มีเหตุผลพอสมควรอยู่ เพราะโจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับได้ด้วยข้อหาร้ายแรง จะถือว่าจำเลยกลั่นแกล้งโจทก์หาได้ไม่ แต่การที่จำเลยตั้งกรรมการขึ้นทำการสอบสวนโจทก์ทางวินัยระหว่างที่โจทก์ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับไปควบคุมตัวไว้ ทำการสอบสวนลับหลังโจทก์โดยไม่เปิดโอกาสให้โจทก์แก้ข้อกล่าวหา ดังนี้ย่อมต้องถือว่าเป็นการกระทำอันไม่ยุติธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผน เพราะตามสัญญาข้อตกลงสภาพการจ้างงานข้อ 16 มีความว่า “ข้อเรียกร้องของสมาคม (คือสมาคมลูกจ้างองค์การค้าของคุรุสภาซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา) ข้อ 18 ในการพิจารณาความผิดสมาชิกของสมาคมองค์การค้าฯ ได้ให้สมาคมเสนอชื่อแต่งตั้งเจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ ซึ่งเป็นผู้แทนสมาคมในตำแหน่งที่สูงกว่าผู้ถูกสอบสวน 1 ขั้นมาร่วมดำเนินการสอบสวนและพิจารณาเสนอความเห็นในการลงโทษในกรณีที่ผู้ถูกสอบสวนเห็นว่ากรรมการที่แต่งตั้งนั้นจะไม่สามารถให้ความเป็นธรรมได้หรือมีผลได้ผลเสีย อาจขอให้แต่งตั้งกรรมการผู้สอบสวนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใหม่ก็ได้ ฯลฯ” ข้อสัญญาดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นอยู่ในตัวแล้วว่าในกรณีที่โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย จะดำเนินการสอบสวนลับหลังโจทก์ โดยตลอดตั้งแต่ต้นหาได้ไม่ แม้แต่กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งนั้นโจทก์ยังมีสิทธิที่จะขอให้เปลี่ยนตัวได้ เหตุไฉนจะไม่ให้โอกาสแก่โจทก์ในอันที่จะแก้ข้อหาบ้างเล่า การสอบสวนของคณะกรรมการที่จำเลยแต่งตั้งนั้นยังไม่เป็นการชอบด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยสั่งพักงานโจทก์และสั่งไล่โจทก์ออกจากงานนั้นจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในลักษณะละเมิด มิได้ดำเนินการตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และขณะที่เกิดกรณีอันเป็นมูลเหตุแห่งคดีนี้ก็ยังไม่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ซึ่งมีมาตรา 49 ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมได้ โจทก์จึงสมควรได้แต่ค่าเสียหาย เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยคำนวณเป็นรายเดือนไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์เข้าทำงานตามเดิมซึ่งไม่อาจบังคับให้ได้ ศาลจึงต้องกำหนดค่าเสียหายให้ตามที่เห็นสมควร เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดีและความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้ 15,000 บาท

พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งองค์การค้าของคุรุสภาจำเลยเรื่องพักงานและเรื่องไล่โจทก์ออกจากงาน ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์หนึ่งหมื่นห้าพันบาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก

Share