คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3473/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุคดีนี้ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ มีผลใช้บังคับแล้ว สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิดต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ฉะนั้น เมื่อคดีปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคฯ เป็นหน่วยงานของรัฐ ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ 9 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ อันเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4ถึงที่ 6 และที่ 9 ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 113,580.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 105,696.24 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสิบจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสิบให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 7 ที่ 8 และที่ 10 จำเลยดังกล่าวไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ 9 ร่วมกันชำระเงิน 52,848.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ 9 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 9 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 และที่ 9 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยมิได้กล่าวถึงจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ 9 ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 3 หาได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยที่ 3 แต่ประการใดไม่ และโจทก์ก็ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในส่วนนี้ คดีสำหรับจำเลยที่ 3 จึงถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ดังนั้น เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถึงที่สุดแล้ว จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบมาตรา 247 การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขึ้นมา แม้จะมีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกา ก็เป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3…ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ 9 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 425 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่เนื่องจากขณะเกิดเหตุคดีนี้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มีผลใช้บังคับแล้ว สิทธิของโจทก์อันเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ 9 ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ 9 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 และที่ 9 ให้เป็นพับและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share