แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯ มาตรา 21 มาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ความผิดดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (4) โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2549 จึงเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิดคดีสำหรับความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) และต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวเสียตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันเดือนใดไม่ปรากฏ พ.ศ. 2540 ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2544 จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันประเภททุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ บริเวณแหลมพรหมเทพ หมู่ที่ 2 (ปัจจุบันหมู่ที่ 6) ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ประมาณ 400 ตารางเมตร โดยก่อสร้างอาคาร 1 หลัง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และระหว่างวันใดไม่ปรากฏชัด ต้นเดือนสิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2544 จำเลยร่วมก่อสร้างอาคารชนิดคอนกรีตเสริมเหล็ก ชั้นเดียว 1 หลัง โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 21, 65, 71 ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2478 (ที่ถูกไม่ต้องระบุ พ.ศ. และใช้บังคับโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497) มาตรา 1, 9, 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกไปจากที่ดินที่บุกรุกยึดถือครอบครอง และให้ลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันนับแต่วันที่จำเลยกระทำผิดจนถึงวันที่ศาลพิพากษา
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ (ที่ถูก มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานบุกรุกที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท ฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 เดือน และปรับ 5,000 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2544 จนถึงวันมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมจำคุก 8 เดือน และปรับ 15,000 บาท และปรับอีกวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2544 จนถึงวันมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน ปรับ 7,500 และปรับอีกวันละ 100 บาท นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2544 จนถึงวันมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารออกไปจากที่ดินที่บุกรุกยึดถือครองครอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยฐานบุกรุกที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท จำเลยให้การรับสารภารลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 2,500 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตแล้ว เป็นจำคุก 4 เดือน ปรับ 5,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัย “ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันในทำนองว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ทั้งยังขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ความผิดดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายความอาญา มาตรา 95 (4) โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2549 จึงเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิด คดีสำหรับความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มาตรา 39 (6) และต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ขอให้ลดโทษปรับรายวันให้ต่ำกว่าที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดในความผิดฐานดังกล่าวอีกต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงลงโทษจำเลยฐานบุกรุกที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินแต่กระทงเดียวจำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 2,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8