แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น และฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่รับอนุญาต ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 อันเป็นกระทงหนักตามมาตรา 91 จำเลยอุทธรณ์แต่เฉพาะในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น เมื่อคดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 ประกาศใช้บังคับ โดยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัตินี้ยกเว้นโทษให้จำเลยในความผิดฐานครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่นนี้ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกพระราชบัญญัตินี้ขึ้นวินิจฉัยยกเว้นโทษให้จำเลยในความผิดฐานนี้ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรค 2 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 17/2513)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย และฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ไว้ในความครอบครองโดยไม่รับอนุญาต และขอให้ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธในข้อหาพยายามฆ่า แต่รับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน โดยไม่รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ ซึ่งเป็นกระทงหนัก จำคุกจำเลย ๑๐ ปี คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนมีประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๖ ปี ๘ เดือน ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์ แต่เฉพาะในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ส่วนในข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไม่รับอนุญาตนั้น จำเลยได้รับยกเว้นโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๖ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ปืนและปลอกกระสุนของกลางไม่ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยในข้อหาพยายามฆ่าผู้เสียหายได้ สำหรับข้อหาฐานมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตนั้น ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ คือเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๑๐ ได้มีประกาศพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐ ออกใช้บังคับ ซึ่งตามมาตรา ๖ ได้ยกเว้นโทษให้โอกาสผู้มีอาวุธปืนผิดกฎหมายนำอาวุธปืนนั้นมามอบให้นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนด ๙๐ วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๖ ขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรค ๒ ที่ศาลอุทธรณ์ยกเอากฎหมายนี้มาวินิจฉัยว่าจำเลยได้รับยกเว้นโทษในความผิดฐานนี้ จึงเป็นการชอบแล้ว เพราะกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ วรรคแรก ที่บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิด แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว ฯลฯ” พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๖ ก็บัญญัติเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดคือจำเลย โดยจำเลยไม่ต้องรับโทษ
พิพากษายืน