คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2575/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เอกสารใดจะเป็นเอกสารมหาชนหาได้ถือเอาแต่การที่พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำขึ้นตามอำนาจหน้าที่ของตนไม่ แต่ข้อความในเอกสารนั้นต้องพาดพิงถึงประชาชนในทางใดทางหนึ่ง ทั้งต้องกระทำขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากเอกสารนั้นได้ ด้วยการตรวจสอบหรืออ้างอิงข้อเท็จจริงจากเอกสารดังกล่าว แต่รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเป็นเพียงเอกสารราชการที่เจ้าพนักงานตำรวจทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่ามีการแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น มิได้มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนอ้างอิงข้อเท็จจริงในเอกสารดังกล่าว จึงไม่เป็นเอกสารมหาชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า อันเป็นกิจการสาธารณูปโภคให้แก่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง จำเลยเป็นเจ้าบ้านเลขที่ 68/1 ซอยสุขุมวิท 21 (อโศก) ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร และเป็นผู้ครอบครองดูแลต้นไม้ภายในบริเวณโรงเรือนมีหน้าที่บำรุงรักษาต้นไม้ของจำเลยให้อยู่ในสภาพดี เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น แต่จำเลยประมาทปราศจากระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังได้แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 เวลา 16.45 นาฬิกา ต้นไม้ขนาดใหญ่ภายในบริเวณบ้านของจำเลยได้หักโค่นทับสายไฟฟ้าทำให้เสาไฟฟ้าคอนกรีตของโจทก์หักโค่นลง 5 ต้น หม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดเสียหาย โจทก์ต้องปักเสาคอนกรีตใหม่และซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุดเสียหายรวมเป็นเงิน 242,118.93 บาท โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในจำนวนเงินดังกล่าว นับแต่วันที่จำเลยกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 18,158.91 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 260,277.84 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 242,118.93 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า เหตุที่เสาไฟฟ้าคอนกรีตของโจทก์หักมิได้เกิดจากต้นไม้ของจำเลยและมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลย แต่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติอันเป็นเหตุสุดวิสัย เนื่องจากมีพายุฝนตกหนักติดต่อกันนายหลายชั่วโมง แม้จำเลยใช้ความระมัดระวังเพียงใดก็ไม่อาจป้องกันภัยพิบัติอันเกิดจากพายุดังกล่าวได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 242,118.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 บาท ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 600 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยโจทก์ไม่ฎีกาโต้เถียงว่า ในวันเกิดเหตุต้นไม้ขนาดใหญ่ในซอยสุขุมวิท 21 (อโศก) ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร โค่นล้มหักทับสายไฟฟ้าของโจทก์เป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าของโจทก์หัก หมอแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าของโจทก์ได้รับความเสียหาย
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ต้นไม้ด้งกล่าวอยู่ในบริเวณบ้านของจำเลยหรือไม่ โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์มีคำเบิกความของนายเสงี่ยม ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานยืนยันว่า ต้นไม้ที่ล้มทับสายไฟฟ้าของโจทก์เป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ภายในบริเวณบ้านของจำเลย นอกจากนี้ โจทก์ยังมีใบสั่งงานประเภทเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินของโจทก์เอกสารหมาย จ.1 กับรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อเอกสารหมาย จ.2 เป็นหลักฐานประกอบคำเบิกความของนายเสงี่ยมว่า ข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับระบุชัดว่าต้นไม้ที่หักทับสายไฟฟ้าของโจทก์เป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในบ้านของจำเลย โจทก์เห็นว่าเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารมหาชน ซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักพอให้รับฟังว่าต้นไม้ที่หักโค่นทับสายไฟฟ้าของโจทก์เป็นต้นไม้ในบ้านของจำเลย เห็นว่า เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่า ต้นไม้ที่หักทับสายไฟฟ้าของโจทก์ไม่ใช่ต้นไม้ในบ้านของจำเลย โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์ให้ได้ความตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่โจทก์คงมีนายเสงี่ยมเป็นพยานเพียงปากเดียวเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุโจทก์ได้รับรายงานว่าต้นไม้ในบ้านของจำเลยหักโค่นทับสายไฟฟ้าของโจทก์เป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าของโจทก์เสียหายหลายรายการ อย่างไรก็ดี นายเสงี่ยมยอมรับว่าในวันเกิดเหตุพยานไม่ได้เดินทางไปตรวจดูความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ได้ไปดูสถานที่เกิดเหตุหลังจากเกิดเหตุแล้ว 6 เดือน ซึ่งในขณะนั้นโจทก์ได้ซ่อมแซมเสาไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าของโจทก์จนใช้การได้แล้ว ทั้งยังยอมรับด้วยว่าไม่ได้ตรวจดูว่าต้นไม้ในบ้านของจำเลยล้มอย่างไร เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปในบ้านของจำเลยได้ คำเบิกความของนายเสงี่ยมไม่เป็นหลักฐานที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าต้นไม้ในบ้านของจำเลยล้มทับสายไฟฟ้าของโจทก์จนเป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าของโจทก์ได้รับความเสียหายตามที่โจทก์ฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีของสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความระบุชัดว่าต้นไม้ในบ้านของจำเลยโค่นทับสายไฟฟ้าแรงสูง เป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าในบริเวณนั้นและอุปกรณ์ไฟฟ้าได้รับความเสียหาย ก็ได้ความจากร้อยตำรวจโทสถาปนา พยานจำเลยซึ่งขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อว่า ในวันรุ่งขึ้นจากวันเกิดเหตุมีพนักงานของโจทก์ไปแจ้งความแก่พยานว่า ในวันเกิดเหตุต้นไม้ในบ้านของจำเลยล้มทับสายไฟฟ้าของโจทก์ ทำให้เสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้าของโจทก์เสียหาย พยานจึงบันทึกรับแจ้งความไว้ในรายงานเกี่ยวกับคดีฉบับดังกล่าว แต่ความจริงจะเป็นดังที่ปรากฏในเอกสารฉบับนั้นหรือไม่ พยานไม่สามารถยืนยันได้ เนื่องจากไม่ได้ไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.2 ที่โจทก์ยกขึ้นฎีกาเป็นเพียงหลักฐานที่แสดงว่ามีผู้แจ้งความว่าต้นไม้ในบ้านของจำเลยล้มทับสายไฟฟ้าของโจทก์เท่านั้น หาใช่หลักฐานที่จะพิสูจน์ว่า ความจริงเป็นดังที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบให้เห็นว่า ความจริงเป็นดังที่เอกสารดังกล่าวระบุไว้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟังว่า ต้นไม้ในบ้านของจำเลยล้มทับสายไฟฟ้าของโจทก์ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.2 เป็นเอกสารมหาชน โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าข้อความในเอกสารฉบับนั้นเป็นข้อความที่ถูกต้องแท้จริง ซึ่งโจทก์เห็นว่าศาลฎีกาควรรับฟังว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามข้อความในเอกสารดังกล่าว เห็นว่า เอกสารใดจะเป็นเอกสารมหาชนได้ถือเอาแต่การที่พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำขึ้นตามอำนาจหน้าที่ของตนไม่ แต่ข้อความในเอกสารนั้นต้องพาดพิงถึงประชาชนในทางใดทางหนึ่งทั้งต้องกระทำขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากเอกสารนั้นได้ ด้วยการตรวจสอบหรืออ้างอิงข้อเท็จจริงจากเอกสารดังกล่าว แต่รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.2 เป็นเพียงเอกสารราชการที่เจ้าพนักงานตำรวจทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่ามีการแจ้งเหตุต่อเจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น มิได้มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนอ้างอิงข้อเท็จจริงในเอกสารดังกล่าว จึงไม่เป็นเอกสารมหาชนตามที่โจทก์ฎีกา กล่าวโดยสรุป ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่า ต้นไม้ของจำเลยล้มทับสายไฟฟ้าตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share