แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 6 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษา แก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก เป็นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จาก ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้น ถึงแก่ความตายโดยประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์คือกระทำโดยทรมาน และทารุณโหดร้ายมาเป็นความผิดฐานเดิมโดยไม่ประกอบด้วย เหตุฉกรรจ์ และแก้โทษที่ลงจาก 6 ปี เป็น 5 ปี จึงเป็นกรณี ที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำเลยจำคุกไม่เกิน ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289, 290, 83 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 6 ปี ลดโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 4 ปี ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุกคนละ 5 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 3 ปี 4 เดือนคืนโอ่ง ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 6 ปีศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 5 ปี เห็นว่าเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้จากความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์คือกระทำโดยทรมานและทารุณโหดร้ายมาเป็นความผิดฐานเดิมโดยไม่ประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์ และแก้โทษที่ลงจาก 6 ปี เป็น 5 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ฎีกาของจำเลยที่ 1 โต้แย้งว่าไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยที่ 1 ส่งขึ้นมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1