คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยระบุว่าทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างกับบริษัทโจทก์ผู้รับจ้าง แม้ ด. กรรมการของโจทก์คนหนึ่งจะลงลายมือชื่อในสัญญาว่าจ้างดังกล่าวโดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ตามข้อบังคับที่จดทะเบียนไว้ซึ่งอาจไม่สมบูรณ์ในฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ แต่โจทก์ได้รับเอางานจ้างดังกล่าวมาทำอันแสดงว่าโจทก์ยอมรับหนังสือสัญญาว่าจ้างดังกล่าว และเมื่อมีเหตุผิดสัญญาโจทก์ก็ได้ฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา จึงถือได้ว่า ด. ทำสัญญาว่าจ้างในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานการแต่งตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ เนื่องจากสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนี้ สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยจึงมีผลผูกพันโจทก์
สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งจะต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร แต่จำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยตามฟ้องกับโจทก์ตามฟ้องจริง มิได้ปฏิเสธถึงความถูกต้องของข้อความในสัญญา เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดเพราะจำเลยที่ 2 ลงลายชื่อในสัญญาว่าจ้างดังกล่าวโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายหรือแต่งตั้งให้กระทำการแทนเท่านั้น จึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยกับโจทก์ได้ไม่จำเป็นต้องอาศัยหนังสือสัญญาว่าจ้างเป็นหลักฐานในคดี ฉะนั้น แม้สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ไม่ต้องห้ามรับฟังตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118
สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยระบุว่าทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างกับโจทก์ผู้รับจ้าง ทั้งหลังจากทำสัญญาว่าจ้างแล้วจำเลยที่ 1 ก็ได้รับเอางานที่โจทก์รับจ้างทำทั้งหมด และได้จ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาบางส่วนให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ก็ได้ทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์เอง พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดให้จำเลยที่ 2 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนในการเข้าทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการหรือผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2546 จำเลยทั้งสองทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยกับโจทก์ โดยให้โจทก์จัดพนักงานรักษาความปลอดภัย 7 คน ค่าจ้างคนละ 9,500 บาท ต่อเดือน รวมค่าจ้างเดือนละ 66,500 บาท โดยมีกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา ต่อมาจำเลยทั้งสองเลื่อนการว่าจ้างไปเป็นวันที่ 16 กรกฎาคม 2546 ครบ 1 ปี ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 ตลอดระยะเวลาที่โจทก์รักษาความปลอดภัยให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีความเสียหายหรือถูกโจรกรรม แต่จำเลยที่ 2 พยายามหาเหตุเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดโดยมีหนังสือเตือนโจทก์ 3 ครั้ง ในเรื่องความประพฤติของพนักงานของโจทก์ ซึ่งโจทก์ชี้แจงเหตุผลให้ทราบแล้ว ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2547 จำเลยที่ 2 อาศัยหนังสือเตือนดังกล่าวมาเป็นสาเหตุเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2547 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 เป็นเวลา 1 เดือน 15 วัน คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 99,750 บาท กับภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละ 7 เป็นเงิน 6,982.50 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 106,732.50 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 106,732.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 99,750 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะหนังสือสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายเนื่องจากนายดำรงศักดิ์ กรรมการของโจทก์ลงลายมือชื่อโดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ ส่วนหนังสือรับรองบริษัทจำเลยที่ 1 ระบุว่านายปิยะวัชร์ ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 จึงจะผูกพันจำเลยที่ 1 ได้ แต่หนังสือสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยท้ายฟ้องมีจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อโดยมิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และไม่มีหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 มอบหมายหรือแต่งตั้งให้กระทำแทน หนังสือสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยท้ายฟ้องมีกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาคือวันที่ 25มิถุนายน 2546 และครบกำหนดสัญญาในวันที่ 24 มิถุนายน 2547 โดยมิได้กำหนดว่าสัญญามีกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันเปิดดำเนินการหรือวันส่งมอบสถานที่ให้โจทก์ดูแลได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และตามสัญญาข้อ 8 ยังระบุว่าเมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญาให้ถือว่าสัญญามีผลบังคับไปได้อีกในปีต่อไปทุกๆ ปี นอกจากนี้การที่พนักงานของโจทก์ไม่สวมชุดพนักงานรักษาความปลอดภัย ไม่ทำความเคารพ เปิดวิทยุเสียงดังรบกวนผู้มาติดต่อ ไม่แจ้งชื่อยามที่ผลัดเปลี่ยนเวรยามให้จำเลยที่ 2 ทราบ รวมทั้งเลิกงานกลับไปก่อนเวลา เป็นการปฏิบัติผิดข้อตกลงตามปกติประเพณีที่บริษัทรักษาความปลอดภัยจะพึงมีต่อคู่สัญญา เมื่อจำเลยที่ 2 มีหนังสือเตือนโจทก์เกินกว่า 2 ครั้ง โจทก์ก็รับทราบและได้มีหนังสือชี้แจงอันเป็นการยอมรับว่าพนักงานของโจทก์กระทำผิดจริงแต่มีเหตุแก้ตัวและมีการสั่งลงโทษแล้วเท่ากับยอมรับว่าโจทก์ผิดข้อตกลงเกินกว่า 2 ครั้ง จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ซึ่งโจทก์รับทราบการเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2547 จึงมีเวลาที่โจทก์สามารถจัดให้พนักงานของโจทก์ไปทำงานที่อื่นได้ หลังจากวันที่ 1 มิถุนายน 2547 พนักงานของโจทก์ไม่ได้ไปรักษาความปลอดภัยให้จำเลยที่ 2 โจทก์ย่อมเรียกค่าเสียหายเท่ากับอัตราจ้างตามปกติไม่ได้ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 53,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ปี นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,500 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยทั้งสองฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยจากพยานหลังฐานในสำนวน ซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับบริการและดูแลรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับทรัพย์สินและสถานที่ของผู้ว่าจ้าง มีนายดำรงศักดิ์ และนายสันติ เป็นกรรมการของบริษัท กรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทผูกพันบริษัทได้ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายปิยะวัชร์ เป็นกรรมการของบริษัท กรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทผูกพันบริษัทได้ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 2 เป็นน้องชายของนายปิยะวัชร์และเป็นผู้จัดการฝ่ายการเงินของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2546 โจทก์ทำสัญญารับจ้างการรักษาความปลอดภัยภายในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มีนายดำรงศักดิ์กรรมการคนหนึ่งของโจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้รับจ้างโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ว่าจ้างโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เช่นกันตามหนังสือสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยหมาย จ.3 เมวันที่ 23 เมษายน 2547 จำเลยที่ 2 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.10 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่า หนังสือสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยเอกสารหมาย จ.3 มีกรรมการของโจทก์เพียงผู้เดียวลงลายมือชื่อและมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ผิดเงื่อนไขตามที่ได้จดทะเบียนไว้ในหนังสือรับรองบริษัทโจทก์เอกสารหมาย จ.1 สัญญาว่าจ้างดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ เห็นว่า หนังสือสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยเอกสารหมาย จ.3 มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างฝ่ายหนึ่งกับโจทก์ผู้รับจ้างอีกฝ่ายหนึ่ง แม้นายดำรงศักดิ์กรรมการของโจทก์คนหนึ่งจะลงลายมือชื่อในสัญญาว่าจ้างดังกล่าวในฐานะผู้รับจ้างโดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ตามข้อบังคับที่จดทะเบียนไว้ซึ่งอาจไม่สมบูรณ์ในฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ แต่โจทก์ได้รับเอางานจ้างดังกล่าวมาทำอันแสดงว่าโจทก์ยอมรับหนังสือสัญญาว่าจ้างดังกล่าว และเมื่อมีเหตุผิดสัญญาก็ได้ฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา จึงถือได้ว่านายดำรงศักดิ์ทำสัญญาว่าจ้างในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานการแต่งตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ เนืองจากสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนี้ สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยตามเอกสารหมาย จ.3 ดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์ หาได้ตกเป็นโมฆะดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ โจทก์ซึ่งเป็นตัวการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่าหนังสือสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยเอกสารหมาย จ.3 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ปัญหานี้จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้น แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งสองย่อมยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยในประเด็นนี้ก่อน ศาลฎีกาเห็นว่า แม้สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยเอกสารหมาย จ.3 จะเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งจะต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากรแต่จำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยตามฟ้องกับโจทก์ และสัญญาว่าจ้างดังกล่าวมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา คือวันที่ 25 มิถุนายน 2546 ตามฟ้องจริง มิได้ปฏิเสธถึงความถูกต้องของข้อความในสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวเพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดเพราะจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาว่าจ้างดังกล่าวโดยไม่ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบหมายหรือแต่งตั้งให้กระทำการแทนเท่านั้น จึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสองยอมรับว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยกับโจทก์โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยหนังสือสัญญาว่าจ้างเป็นหลักฐานในคดีแต่ประการใด ฉะนั้น แม้สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ขณะทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 2 มิได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 มิได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้เป็นคู่สัญญานั้น เห็นว่า สัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยเอกสารหมาย จ.3 ระบุว่าทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 ผู้ว่าจ้างฝ่ายหนึ่ง กับโจทก์ผู้รับจ้างอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งหลังจากทำสัญญาว่าจ้างดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ได้รับเอางานที่โจทก์รับจ้างทำทั้งหมด และได้จ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาบางส่วนให้แก่โจทก์ตามสำเนาใบแจ้งหนี้และสำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ทั้งต่อมาจำเลยที่ 1 ก็ได้ทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์เองตามหนังสือบอกกล่าวยกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ.10 พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดให้จำเลยที่ 2 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนในการเข้าทำสัญญาว่าจ้างการรักษาความปลอดภัยกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจองจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช่ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์

Share