แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองตามสัญญาจำนองฉบับเดียวกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ แต่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การว่า สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะ เพื่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อน เมื่อศาลพิพากษาให้มีการบังคับจำนองและคดีถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จะกลับมาฟ้องคดีใหม่อ้างว่า สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะหาได้ไม่ เพราะเท่ากับเป็นการรื้อร้องฟ้องคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดทั้งๆ ที่เป็นคู่ความรายเดียวกันซึ่งต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อน ให้ต้องกลับมาวินิจฉัยซ้ำในเหตุเดียวกันอีกว่า โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างและเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 97 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2538 จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับจำนองที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ ในวงเงิน 5,000,000 บาท เพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดสามกริชอุบลก่อสร้าง แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 มาแสดงในวันทำนิติกรรมจำนอง นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆะ โจทก์บอกกล่าวด้วยวาจาหลายครั้งให้จำเลยทั้งสองไปเพิกถอนนิติกรรมจำนอง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 97 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินแปลงดังกล่าว หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองที่ดินตามฟ้องในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 นิติกรรมจำนองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆะ ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามกริชอุบลก่อสร้างผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดสามกริชอุบลก่อสร้างและโจทก์กับพวกรวม 6 คน ให้ชำระหนี้และบังคับจำนอง โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวไม่ได้ให้การต่อสู้ว่านิติกรรมจำนองตามฟ้องตกเป็นโมฆะ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับพวกร่วมกันชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ปรากฏตามคดีหมายเลขดำที่ 1418/2542 คดีหมายเลขแดงที่ 1362/2545 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 กำลังจะดำเนินการบังคับคดีและบังคับจำนองที่ดินตามฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมจำนอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 1,500 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2538 โจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 97 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นประกันหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของห้างหุ้นส่วนสามกริชอุบลก่อสร้าง ในวงเงิน 5,000,000 บาท ตามสัญญาจำนองที่ดินและโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดสามกริชอุบลก่อสร้างผิดนัดไม่ชำระหนี้จำเลยที่ 1 จึงฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดสามกริชอุบลก่อสร้างและโจทก์กับพวกรวม 6 คน ให้ชำระหนี้และบังคับจำนอง โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองเพราะห้างหุ้นส่วนจำกัดสามกริชอุบลก่อสร้างไม่ได้เป็นหนี้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 บอกกล่าวบังคับจำนองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามคำให้การเอกสารหมาย ล.2 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามกริชอุบลก่อสร้างและโจทก์กับพวกร่วมกันชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลยที่ 97 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์จำนองอื่นออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากไม่พอชำระหนี้ให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินของโจทก์กับพวกจนกว่าจะครบ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ปรากฏตามคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 1418/2542 คดีหมายเลขแดงที่ 1362/2545 ของศาลชั้นต้น เอกสารหมาย ล.3
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องช้ำหรือไม่ เห็นว่า คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองตามสัญญาจำนองฉบับเดียวกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ แต่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การว่า สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะ เพื่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนอันเป็นความบกพร่องไม่รอบครอบของโจทก์เองที่ไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ เมื่อศาลพิพากษาให้มีการบังคับจำนองและคดีถึงที่สุดไปแล้ว เช่นนี้ โจทก์จะกลับมาฟ้องคดีใหม่อ้างเหตุว่า สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะ เพื่อมิให้คำพิพากษาในคดีก่อนมีผลใช้บังคับแก่โจทก์หาได้ไม่ เพราะเท่ากับเป็นการรื้อร้องฟ้องคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดทั้งๆ ที่เป็นคู่ความรายเดียวกันซึ่งต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อน ให้ต้องกลับมาวินิจฉัยซ้ำมาในเหตุเดียวกันอีกว่า โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องหามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) โดยไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แทนจำเลยทั้งสอง