คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การแจ้งข้อหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนเพื่อต้องการให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนว่าตนจะถูกสอบสวนในความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น หาได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิดไม่ แม้เดิมจะแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์ 2 วัน แต่เมื่อสอบสวนไปแล้วปรากฏว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดอีก 2 วัน ซึ่งเป็นความผิดฐานเดียวกันแต่เพิ่มอีก 2 กระทง ก็ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานพรากผู้เยาว์ พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2545 เวลากลางวันถึงกลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน วันที่ 19 สิงหาคม 2545 เวลากลางคืนหลังเที่ยงถึงกลางคืนก่อนเที่ยงต่อเนื่องกัน วันที่ 4 กันยายน 2545 เวลากลางคืนหลังเที่ยงถึงกลางคืนก่อนเที่ยงและวันที่ 12 กันยายน 2545 เวลากลางวันถึงกลางคืนหลังเที่ยง จำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากนางสาว…..อายุ 16 ปีเศษ ซึ่งเป็นผู้เยาว์อายุยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากนางสาววรนุช ผู้เป็นอาและเป็นผู้ปกครองผู้ดูแลของผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก รวม 3 กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 6 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุนางสาว….. ผู้เสียหาย อายุ 16 ปีเศษ พิการทางหู พูดไม่ได้ ฟังภาษาไทยได้แต่ต้องพูดเสียงดังประกอบกับการใช้ภาษามือร่วมด้วย โดยอยู่ในความปกครองของนางสาววรนุช ซึ่งเป็นอาของผู้เสียหายและพักอยู่บ้านเดียวกัน ส่วนจำเลยทำงานเป็นผู้ช่วยช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศที่บริษัทแห่งหนึ่ง อยู่ใกล้กับบ้านนางสาววรนุช เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2545 นางสาววรนุชแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในข้อหาพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย จำเลยให้การปฏิเสธตลอดมา มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า ขณะพยานรดน้ำต้นไม้หน้าบ้าน จำเลยกวักมือเรียกพยานให้ไปหาโดยสื่อสารกันด้วยท่าทางง่ายๆ ให้สายตาและการจับต้องตัว หลังจากนั้นช่วงเย็นของทุกวันพยานจะรอจำเลยเลิกงานแล้วมากวักมือเรียกไปที่ทำงานของจำเลย จำเลยพาผู้เสียหายขึ้นไปบนชั้น 3 ของบริษัทดังกล่าวและร่วมดื่มเบียร์กับผู้ชายอีกสามคน จนกระทั่งผู้ชายทั้งสามคนออกจากห้องไป พยานดื่มเบียร์ประมาณสามแก้วรู้สึกมึนเมา จำเลยเข้ามากอด จูบ ถอดเสื้อผ้าของพยานออกและร่วมประเวณีกันจึนถึงเวลา 20.30 นาฬิกา พยานจึงกลับบ้าน ซึ่งพยานร่วมประเวณีกับจำเลยมากกว่า 10 ครั้ง และพยานได้เล่าเหตุการณ์ดังกล่าวให้นางสาววันเพ็ญหรือปุ้ย กับนางสาวเจิดจันทร์หรือน้อง ซึ่งเป็นญาติและอยู่บ้านเดียวกันฟัง โดยโจทก์มีนางสาวเจิดจันทร์มาเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายผิดปกติไป ชอบตื่นแต่เช้าออกไปนั่งเหม่อลอยคอยมองรถยนต์กระบะที่แล่นผ่านไปมาหน้าบ้าน นอนซมบ่นว่าเจ็บท้องและช่วงเย็นหายไปจากบ้าน จนกระทั่งวันที่ 12 กันยายน 2545 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา ผู้เสียหายเล่าว่ามีคนรักและได้ร่วมประเวณีกับคนรักซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทเครื่องปรับอากาศใกล้บ้าน โดยแสดงท่าทางให้ดู และนางสาววรนุชเบิกความเป็นพยานว่า พยานทราบเรื่องของผู้เสียหาย เนื่องจากนางสาวเจิดจันทร์พบยาคุมกำเนิดอยู่ในบ้าน จึงสอบถามได้ความว่าเป็นของผู้เสียหาย นอกจากนี้ผู้เสียหายมีพฤติการณ์แอบออกไปจากบ้านในเวลากลางคืน เห็นว่า โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันถึงการกระทำของจำเลยที่พาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร โดยผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยสมเหตุผลสอดคล้องกับสภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบกับโจทก์มีนางสาวเจิดจันทร์และนางสาววรนุชบุคคลใกล้ชิดผู้เสียหายสังเกตเห็นผู้เสียหายมีพฤติการณ์เปลี่ยนไปจึงสอบถามและผู้เสียหายได้เล่าให้ฟังดังกล่าว เป็นการแสดงเชื่อมโยงข้อเท็จจริงและบ่งชี้ให้พยานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีผู้เสียหายเพียงคนเดียวที่ยืนยันว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ส่วนพยานปากอื่นไม่เห็นจำเลยไปไหนกับผู้เสียหายและผู้เสียหายมีญาติคอยดูแลเกือบตลอดเวลา จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้เสียหายจะแอบไปอยู่กับจำเลย นอกจากนี้ผู้เสียหายอ้างว่า จำเลยพาขึ้นไปชั้นที่ 3 ของบริษัทมีห้องเล็กและจำเลยกับผู้เสียหายมีเพศสัมพันธ์กัน แต่จากคำเบิกความพยานจำเลยว่าเป็นห้องโถงรวม จึงเป็นพิรุธน่าสงสัยว่าผู้เสียหายเคยขึ้นไปที่ดังกล่าวหรือไม่ อีกทั้งผู้เสียหายไม่ได้ให้แพทย์ตรวจร่างกายเพื่อยืนยันว่าผ่านการร่วมประเวณีมาจริงหรือไม่ นั้น เห็นว่า โดยลักษณะของการกระทำความผิดฐานพรากผู้เยาว์จะเป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของผู้เสียหายและจำเลยผู้กระทำเพียงสองคน เพราะหากมีญาติของผู้เสียหายรู้เห็นว่าจำเลยไปไหนกับผู้เสียหายแล้วก็ต้องมีการสอบถามทำให้ไม่เกิดการกระทำความผิด และเหตุคดีนี้ส่วนใหญ่จำเลยจะพาผู้เสียหายไปตอนกลางคืน ญาติของผู้เสียหายจึงไม่เห็นเหตุการณ์ ส่วนสถานที่เกิดเหตุปรากฏว่า พนักงานของบริษัทที่จำเลยทำงานไม่อนุญาตให้พนักงานสอบสวนเข้าไปตรวจ จึงฟังไม่ได้แน่ชัดว่ามีลักษณะตามที่จำเลยนำสืบหรือไม่ และความผิดตามฟ้องเป็นเพียงการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อร่างกายของบุคคลอื่น โดยพิจารณาจิตใจผู้กระทำว่าเป็นในทางอารมณ์ใคร่ในทางเพศหรือไม่ จึงไม่จำเป็นต้องให้แพทย์ตรวจร่างกายผู้เสียหายเพื่อยืนยันว่าเคยผ่านการร่วมประเวณีมาจริงหรือไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยว่า กระทำความผิดวันที่ 16 สิงหาคม 2545 และวันที่ 4 กันยายน 2545 แต่มีการบันทึกคำให้การของผู้เสียหายตามเอกสารหมาย จ.2 ภายหลังระบุว่าจำเลยกระทำความผิด 4 วัน และพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่จำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนอกเหนือจากวันที่แจ้งข้อหานั้น เห็นว่า การแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนเพื่อต้องการให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนว่าตนจะถูกสอบสวนในความผิดเรื่องใดเท่านั้น หาได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิดไม่ แม้เดิมจะแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิด 2 วัน แต่เมื่อสอบสวนไปแล้วปรากฏว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดอีก 2 วัน ซึ่งเป็นความผิดฐานเดียวกันแต่เพิ่มอีก 2 กระทง ก็ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานพรากผู้เยาว์แล้ว พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 และที่จำเลยฎีกาว่า แม้วันเวลากระทำความผิดจะเป็นเพียงรายละเอียด แต่โจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดในวันเวลาใดกันแน่ เนื่องจากผู้เสียหายยืนยันว่าจำเลยพาผู้เสียหายไปร่วมประเวณีหลายครั้ง ซึ่งจำเลยนำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่โดยตลอดว่าตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยไปทำงานที่อื่นโดยมีบัตรลงเวลาตารางงานรายวันและแบบบันทึกการทำงานล่วงเวลาและหรือการทำงานในวันหยุดตามเอกสารหมาย ล.4 ถึง ล.6 เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในวันเวลาที่โจทก์กล่าวในฟ้องและจำเลยหลงต่อสู้ ทั้งคำเบิกความของพยานโจทก์มีพิรุธไม่อยู่กับร่องกับรอยน่าสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ขอศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยนั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบโดยมีผู้เสียหายซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าในช่วงวันเวลาที่เกิดเหตุจำเลยได้พาผู้เสียหายไปร่วมประเวณีหลายครั้ง โดยผู้เสียหายยินยอมไปด้วย และผู้เสียหายเบิกความรับรองตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหายเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งศาลหยิบยกข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฏเกี่ยวข้องกันในชั้นสอบสวนซึ่งมีพนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ปกครองและผู้แปลร่วมอยู่ด้วยมาเปรียบเทียบประกอบคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณา และพิเคราะห์รายละเอียดเหตุผลแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบดุลพินิจรับฟังได้ว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิดได้ชัดแจ้งดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว แม้จำเลยนำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่และแสดงหลักฐานว่าทำงานที่อื่นตามเอกสารหมาย ล.4 ถึง ล.6 แต่เป็นเอกสารที่ทำขึ้นเป็นการภายใน บางฉบับเป็นภาพถ่ายเอกสารและบางฉบับระบุว่าเป็นปี 2546 เป็นพิรุธ ประกอบกับไม่มีเพื่อนร่วมปฏิบัติงานกับจำเลยมาเบิกความสนับสนุนทำให้ไม่มีน้ำหนัก ทั้งไม่เป็นกรณีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม หรือมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ตามที่จำเลยฎีกา พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share