คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2348/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ.2533 มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นในการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการ การเรียน การสอน การวิจัยและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเป็นหลัก ส่วนการดำเนินภารกิจด้านฟาร์มธุรกิจเป็นเพียงเพื่อประโยชน์ในการเรียน การสอน และการวิจัย มิใช่เป็นการดำเนินธุรกิจเป็นเอกเทศเพื่อประโยชน์ทางการค้าเป็นสำคัญ และหากจะมีผลกำไรขึ้นมาบ้างก็เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า การซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ที่มีกำหนดอายุความ 2 ปี และกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพขั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคมปรับแปลง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม พาร์มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นหน่วยงานของโจทก์ มีหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางของสำนักวิชาการในการดำเนินภารกิจด้านการเรียนการสอน การวิจัยและฟาร์มธุรกิจโดยโจทก์มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวี รักษาการแทนอธิการบดีเป็นผู้ทำการแทน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้านม ผลิตภัณฑ์จากนมและน้ำผลไม้ทุกชนิด จำเลยที่ 1 เลิกห้างเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2543 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชีขณะฟ้องยังมิได้มีการยื่นคำขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2541 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อนมชนิดต่างๆ จากฟาร์มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีหน่วยงานของโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 411,807 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับมอบนมที่ซื้อแต่ละครั้ง ณ หน่วยงานของโจทก์ดังกล่าวไปครบถ้วนแล้ว โดยตกลงชำระค่านมเป็นรายเดือน ตามวันที่กำหนดไว้ในใบวางบิลของโจทก์ ดังนี้คือ ระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อนมชนิดต่างๆ ไปจากโจทก์รวม 17 ครั้ง เป็นเงิน 142,488.95 บาท กำหนดชำระเงินในวันที่ 31 สิงหาคม 2541 ระหว่างวันที่ 3 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2541 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อนมชนิดต่างๆ ไปจากโจทก์ รวม 8 ครั้ง เป็นเงิน 76,183.85 บาท กำหนดชำระเงินในวันที่ 25 กันยายน 2551 ระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2541 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อนมชนิดต่างๆ ไปจากโจทก์ รวม 12 ครั้ง เป็นเงิน 82,431.40 บาท กำหนดชำระเงินในวันที่ 25 กันยายน 2541 ระหว่างวันที่ 2 กันยายน 2541 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2541 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อนมชนิดต่างๆ ไปจากโจทก์ รวม 10 ครั้ง เป็นเงิน 50,894.30 บาท กำหนดชำระเงินในวันที่ 25 ตุลาคม 2541 ระหว่างวันที่ 16 กันยายน 2541 ถึงวันที่ 29 กันยายน 2541 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อนมชนิดต่างๆ ไปจากโจทก์ รวม 7 ครั้ง เป็นเงิน 39,592 บาท กำหนดชำระเงินในวันที่ 25 ตุลาคม 2541 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2541 ถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2541 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อนมชนิดต่างๆ ไปจากโจทก์ รวม 4 ครั้ง เป็นเงิน 20,216.50 บาท กำหนดชำระเงินในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2541 ครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระเงินค่านมแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2544 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดเวลาที่แจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2544 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2544 จำนวน 83,674.32 บาท และ 8,800.26 บาท ตามลำดับ รวมดอกเบี้ยทั้งหมด 92,474.58 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้น 504,281.58 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 504,281.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 411,807 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาซื้อขายนมกับโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย โจทก์ฟ้องคดีเกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2541 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 504,281.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 411,807 บาท นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2544 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 411,807 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 142,488.95 บาท นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2541 ต้นเงิน 76,183.85 บาท และ 82,431.40 บาท นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2541 ต้นเงิน 50,894.30 บาท และ 39,592 บาท นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2541 และต้นเงิน 20,216.50 บาท นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่โต้แย้งคัดค้านกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ.2533 มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับแปลง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ฟาร์มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นหน่วยงานหนึ่งของโจทก์ มีหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางของสำนักวิชาการในการดำเนินภารกิจด้านการเรียนการสอน การวิจัยและฟาร์มธุรกิจ โดยโจทก์มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวี รักษาการแทนอธิการบดีเป็นผู้ทำการแทน กับมีรองศาสตราจารย์ ดร.กนกเป็นผู้รักษาการแทนผู้จัดการฟาร์มมหาวิทยาลัยตามคำสั่งสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและคำสั่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เอกสารหมาย จ.2 และ จ.24 ตามลำดับ และมีนางอมรรัตน์ เป็นผู้ช่วยผู้จัดการฟาร์มมหาวิทยาลัยมีหน้าที่เป็นผู้ติดต่อประสานงานและกำหนดแผนการตลาดตามผังสายงานเอกสารหมาย จ.23 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนินิบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.3
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ซื้อนมชนิดต่างๆ ไปจากโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนางอมรรัตน์เบิกความยืนยันว่าเดือนมกราคม 2541 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้มาติดต่อกับโจทก์ขอเป็นตัวแทนจำหน่ายนม ดร.กนกจึงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จัดทำแผนการเป็นตัวแทนมาให้โจทก์พิจารณาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2541 พยานได้ส่งใบขอเสนอราคาสินค้าทางโทรสารไปให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 พิจารณาตามเอกสารหมาย จ.21 และวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์เสนอให้บริษัทโคราชโพทรีย์ จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายนมให้แก่โจทก์ นายประเสริฐ และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทดังกล่าว จึงตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ขึ้นมาเพื่อจำหน่ายนมให้แก่โจทก์ จากนั้นโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อซื้อขายนมกัน และมีนายอุเทน เบิกความสนับสนุนว่า การซื้อขายนมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีการตกลงราคาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ตามสำเนาใบเสนอราคาสินค้าและสำเนารายการสั่งสินค้าเอกสารหมาย จ.21 และ จ.22 เห็นว่า ตามสำเนาใบขอเสนอราคาสินค้าเอกสารหมาย จ.21 นางอมรรัตน์ได้ทำรายการเสนอราคาสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2541 และระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการสั่งซื้อสินค้าไว้ด้วยว่า “เวลาสั่งสินค้า 09.00 ถึง 10.00 น. โดยการโทรสารหมายเลข 216523 ถึงคุณเพชรา” ซึ่งตามสำเนารายการสั่งสินค้าเอกสารหมาย จ.22 ก็ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2541 จำเลยที่ 2 ได้โทรสารสั่งซื้อนมไปยังบุคคลชื่อเพชรา ที่หมายเลขโทรสาร 216523 ตรงตามที่นางอมรรัตน์ระบุไว้ในใบขอเสนอราคาสินค้า อีกทั้งหัวกระดาษรายการสั่งสินค้าดังกล่าวก็มีชื่อของจำเลยที่ 1 ปรากฏอยู่ด้วย นอกจากนี้นายอุเทนยังเบิกความอีกว่า ก่อนมีข้อพิพาทในคดีนี้ จำเลยที่ 1 เคยสั่งซื้อนมจากโจทก์หลายครั้ง จำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเช็คชำระเงินให้แก่โจทก์ โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินได้ทุกครั้งตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.5 (รวม 9 ฉบับ) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คเอกสารหมาย จ.5 ทุกฉบับกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในใบแต่งทนายความ ฉบับลงวันที่ 22 สิงหาคม 2544 แล้วเหมือนกันจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.5 พร้อมกับประทับตราของจำเลยที่ 1 ทั้งตามเช็คเอกสารหมาย จ.5 ฉบับแรกลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ 16 มีนาคม 2541 ส่วนฉบับต่อๆ มาลงวันที่ 21 สิงหาคม 2541 จึงสอดคล้องกับคำเบิกความของนายอุเทนว่า ระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม 2541 ถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2541 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อนมชนิดต่างๆ จากโจทก์หลายครั้ง รวมเป็นเงิน 411,807 บาท ตามใบส่งของและใบวางบิลเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.12 ซึ่งตามใบวางบิลเอกสารหมาย จ.7 กำหนดให้ชำระเงินในวันที่ 31 สิงหาคม 2541 อันเป็นช่วงเวลาชำระเงินต่อจากเช็คเอกสารหมาย จ.5 ฉบับที่ 9 และโจทก์มีนางสาววนิดา ผู้ทำบัญชีรายรับของโจทก์เบิกความยืนยันว่า ตามใบส่งของและใบวางบิลเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.12 มีนายสมบูรณ์ นายชาตรี นายสุวิท พนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับสินค้าในใบส่งของและใบวางบิล โดยเบิกความอย่างละเอียดว่า ในวันใดพนักงานคนใดลงลายมือชื่อในใบส่งของหรือใบวางบิลฉบับใดซึ่งจำเลยทั้งสามไม่นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 กระทำการติดต่อสั่งซื้อนมจากโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้รับสินค้าครบถ้วนแล้วคงค้างชำระค่านมแก่โจทก์จำนวน 411,807 บาท ตามฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) หรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่าโจทก์ดำเนินการทางฟาร์มธุรกิจจึงเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรมหรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่นรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง” แต่โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ.2533 มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับแปลง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ฟาร์มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นหน่วยงานหนึ่งของโจทก์ มีหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางของสำนักวิชาการในการดำเนินภารกิจด้านการเรียนการสอน การวิจัยและฟาร์มธุรกิจ ดังนั้นวัตถุประสงค์ของโจทก์และการดำเนินภารกิจของฟาร์มดังกล่าวจึงมุ่งเน้นในการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการ การเรียนการสอน การวิจัยและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเป็นหลัก ส่วนการดำเนินภารกิจด้านฟาร์มธุรกิจก็เป็นเพียงเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน และการวิจัย มิใช่เป็นการดำเนินธุรกิจเป็นเอกเทศเพื่อประโยชน์ทางการค้าเป็นสำคัญ และหากจะมีผลกำไรขึ้นมาบ้างก็เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า การซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) กำหนดอายุความ 2 ปี ดังที่จำเลยทั้งสามฎีกา และกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์

Share