คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยร่วมที่ 1 ขับรถแซงรถยนต์บรรทุกหกล้อซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้าเข้าไปในช่องเดินรถสวนในขณะที่ บ. ขับรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์และ ล. ขับรถยนต์กระบะแล่นสวนทางมาในระยะใกล้ โดยไม่รอให้รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์และรถคันที่จำเลยร่วมที่ 1 และ ล. ขับแล่นผ่านไปก่อนถึงแม้รถคันที่จำเลยร่วมที่ 1 ขับไม่ได้ชนกับรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ แต่หากจำเลยร่วมที่ 1 ไม่ขับรถแซงเข้าไปในช่องเดินรถสวนในระยะใกล้เช่นนั้นก็ไม่มีเหตุที่ทำให้ บ. จำต้องขับรถหลบไปด้านซ้ายของถนนเพื่อไม่ให้รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ถูกชน การที่รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์หลบรถจำเลยร่วมที่ 1 แล้วพลิกคว่ำ จึงเป็นผลมาจากการที่จำเลยร่วมที่ 1 ขับรถแซงเข้ามาในช่องเดินรถสวนโดยตรง จำเลยร่วมที่ 1 จึงเป็นฝ่ายขับรถโดยประมาท
รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์สามารถซ่อมแซมให้กลับคืนสภาพเดิมได้ในวงเงิน 1,200,000 บาท โจทก์จึงมีหน้าที่จัดการซ่อมรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ให้ผู้เอาประกันภัยแล้วรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าซ่อมจำนวนดังกล่าวจากจำเลยร่วมที่ 1 การที่โจทก์พิจารณาจ่ายค่าเสียหายตามทุนประกัน 2,200,000 บาท ให้แก่ผู้เอาประกันแทนการซ่อมรถให้ผู้เอาประกันเป็นเรื่องที่โจทก์และผู้เอาประกันตกลงกันเองที่ขัดกับหลักปฏิบัติของโจทก์ในกรณีที่รถเอาประกันสามารถซ่อมได้ทางโจทก์จะไม่คืนทุนประกันให้ลูกค้า จึงไม่อาจนำมาเรียกร้องให้จำเลยร่วมที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ได้ จำเลยร่วมที่ 1 คงรับผิดต่อโจทก์ตามความเสียหายที่แท้จริงที่โจทก์จะต้องจ่ายไปในการซ่อมรถให้ผู้เอาประกันภัยในวงเงิน 1,200,000 บาท
โจทก์นำรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ซึ่งได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาจากบริษัท ก. ออกขายเพื่อให้ได้เงินมาชดเชยค่าเสียหายตามทุนประกันที่โจทก์ได้จ่ายไปในส่วนที่ยังขาดอยู่ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะกระทำได้ ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยร่วมที่ 1 ที่มีต่อโจทก์จะนำมาหักออกจากค่าซ่อมที่จำเลยร่วมที่ 1 มีหน้าที่ต้องจ่ายให้โจทก์ไม่ได้ จำเลยร่วมที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ษ-1410 กรุงเทพมหานคร จากบริษัทกู๊ดลัคโปรดักท์จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างหรือตัวการของผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน น-8422 สมุทรสาคร จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน น-8422 สมุทรสาคร ผู้มีชื่อขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน น-8422 สมุทรสาคร โดยประมาทปราศจากความระมัดระวังล้ำเข้าไปในทางเดินรถซึ่งแล่นสวนทางมา ซึ่งขณะนั้นรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้แล่นอยู่ในช่องเดินรถสวนดังกล่าวพอดี จึงเป็นเหตุให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน น-8422 สมุทรสาคร เฉี่ยวชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,323,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ทิ้งฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความกับโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นมีหมายเรียกนางสาวสมศรี มาเป็นจำเลยร่วมที่ 1 และบริษัทพิมลพร จำกัด เป็นจำเลยร่วมที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตและโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต และมีคำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมที่ 2 ออกจากสารบบความ
จำเลยร่วมที่ 1 ให้การว่า จำเลยร่วมที่ 1 ไม่ใช่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2539 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา จำเลยร่วมที่ 1 ได้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน น-8422 สมุทรสาคร พาบุตรของจำเลยที่ 1 ไปหาแพทย์ที่คลินิก ต่อมาเวลาประมาณ 15 นาฬิกา จำเลยร่วมที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวจากมหาชัยเมืองใหม่มาตามถนนเอกชัยมุ่งหน้าไปทางจังหวัดสมุทรสาคร ใช้ความเร็วประมาณ 30 ถึง 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และขับด้วยความระมัดระวัง ระหว่างที่ขับรถกลับ จำเลยร่วมที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์ชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายไม่เกิน 500,000 บาท และคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,717,519 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 สิงหาคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยร่วมที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยร่วมที่ 1 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 717,519 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
จำเลยร่วมที่ 1 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ป้ายแดงซึ่งภายหลังได้หมายเลขทะเบียน 6 ษ-1410 กรุงเทพมหานครไว้จากบริษัทกู๊ดลัคโปรดักท์ จำกัด วันเกิดเหตุนายบุญธรรม ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปตามถนนเอกชัยจากตำบลมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร นายลือชัย ขับรถยนต์กระบะหมายเลยทะเบียน บ-4134 สมุทรสาคร ตามหลังรถยนต์ซึ่งโจทก์รับประกันภัย เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยร่วมที่ 1 ได้ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น-8422 สมุทรสาคร แซงรถยนต์บรรทุกหกล้อขึ้นไปในช่องเดินรถสวน นายบุญธรรมซึ่งขับรถมาในช่องเดินรถสวนได้ขับหลบรถคันที่จำเลยร่วมที่ 1 ขับไปทางด้านซ้ายของขอบทาง แล้วพยายามขับรถขึ้นมาบนถนนทำให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้พลิกคว่ำได้รับความเสียหาย ส่วนรถคันที่จำเลยร่วมที่ 1 ขับได้แล่นไปชนกับรถยนต์กระบะคันที่นายลือชัยขับ ซึ่งแล่นมาในช่องเดินรถสวนได้รับความเสียหายทั้งสองคัน
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมที่ 1 ว่าจำเลยร่วมที่ 1 ได้ขับรถโดยประมาทหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยร่วมที่ 1 ขับรถยนต์กระบะแซงรถยนต์บรรทุกหกล้อซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้าขึ้นไปในช่องเดินรถสวน จำเลยร่วมที่ 1 มีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังไม่ขับรถแซงในที่คับขันหรือไม่แซงในขณะที่มีรถยนต์แล่นสวนทาง ที่จำเลยร่วมที่ 1 เบิกความว่า ก่อนจำเลยร่วมที่ 1 ขับรถแซงรถยนต์บรรทุกหกล้อได้ดูดีแล้ว ไม่เห็นมีรถสวนทางมาในช่องเดินรถสวน จึงขับรถแซงรถยนต์บรรทุกหกล้อขึ้นไปในช่องเดินสวนนั้น กลับได้ความจากคำเบิกความของนายลือชัย พยานจำเลยร่วมที่1 ว่า เมื่อนายลือชัยขับรถยนต์กระบะมาถึงบริเวณที่เกิดเหตุเห็นจำเลยร่วมที่ 1 ซึ่งขับรถสวนทางมาแซงรถซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้าเข้ามาในช่องเดินรถของนายลือชัย รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ได้หลบรถจำเลยร่วมที่ 1 ไปทางซ้ายแล้วเกิดพลิกคว่ำ รถคันที่จำเลยร่วมที่ 1 ขับจึงได้แล่นมาชนกับรถคันที่นายลือชัยขับได้รับความเสียหายทั้งสองคันไปจอดอยู่ข้างทาง นายลือชัยประสบเหตุการณ์ด้วยตนเองและรถคันที่นายลือชัยขับยังถูกรถจำเลยร่วมที่ 1 แล่นมาชนอีกด้วย คำเบิกความของนายลือชัยจึงสมเหตุผลน่าเชื่อยิ่งกว่าคำเบิกความของจำเลยร่วมที่ 1 ทั้งคำเบิกความของนายลือชัยดังกล่าวยังเจือสมกับคำเบิกความของนายบุญธรรมคนขับรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ น่าเชื่อว่า จำเลยร่วมที่ 1 ขับรถแซงรถยนต์บรรทุกหกล้อซึ่งแล่นอยู่ข้างหน้าเข้าไปในช่องเดินรถสวนในขณะที่นายบุญธรรมขับรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์และนายลือชัยขับรถยนต์กระบะแล่นสวนทางมาในระยะใกล้ โดยไม่รอให้รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์คันที่นายบุญธรรมขับและรถคันที่จำเลยร่วมที่ 1 ขับเฉี่ยวชนกับรถของนายลือชัย ถึงแม้รถคันที่นายลือชัยขับแล่นผ่านไปก่อนจึงเกิดเหตุทำให้รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์พลิกคว่ำและรถคันที่จำเลยร่วมที่ 1 ขับไม่ได้ชนกับรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ แต่หากจำเลยร่วมที่ 1 ไม่ขับรถแซงเข้าไปในช่องเดินรถสวนในระยะใกล้เช่นนั้น ก็ไม่มีเหตุที่ทำให้นายบุญธรรมจำต้องขับรถหลบไปด้านซ้ายของถนนเพื่อไม่ให้รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ถูกชน รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ก็จะไม่พลิกคว่ำ การที่รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์หลบรถจำเลยร่วมที่ 1 แล้วเกิดพลิกคว่ำ จึงเป็นผลมาจากการที่จำเลยร่วมที่ 1 ขับรถแซงเข้ามาในช่องเดินรถสวนโดยตรง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยร่วมที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยร่วมที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์และจำเลยร่วมที่ 1 มีว่า จำเลยร่วมที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามคำเบิกความของนายสมยศ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าส่วนประเมินราคาของโจทก์มีหน้าที่ตรวจสอบความเสียหายของรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุได้ความว่ารถยนต์ยี่ห้อเบนซ์คันที่โจทก์รับประกันภัยในช่วงที่เกิดเหตุได้นำไปจอดไว้ที่ศูนย์เบนซ์ ดี.เค. สาขาอ้อมน้อย จังหวัดสมุทรสาคร แนวทางพิจารณาจัดซ่อมประมาณการค่าซ่อมไว้ 1,200,000 บาท ตามที่ศูนย์เบนซ์ ดี.เค. สาขาอ้อมน้อย ประเมินราคาค่าซ่อมไว้ และยังได้ความต่อไปจากคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยร่วมที่ 1 ของนายนิพนธ์ ว่า รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์คันที่เกิดเหตุสามารถซ่อมได้ ทั้งตามภาพถ่ายแสดงความเสียหายของรถยนต์เบนซ์ หมาย จ.5 เห็นได้ว่าบริเวณส่วนหัวของรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดของรถยนต์ไม่ได้รับความเสียหายมากนักเพราะไม่ได้ถูกกระแทกชน ในส่วนอื่นๆ ของรถที่ได้รับความเสียหายก็สามารถนำอุปกรณ์ใหม่มาเปลี่ยนแทนของเดิมที่เสียหายได้ เพราะยังเป็นรถใหม่ป้ายแดงแม้นายสมยศจะเบิกความว่าค่าซ่อมรถอาจบานปลายออกไปถึง 1,500,000 บาท ก็เบ็นเพียงความเห็นของนายสมยศ เท่านั้น ไม่ได้แสดงหลักฐานใดยืนยันแน่นอน จึงน่าเชื่อว่ารถยนต์ยี่ห้อเบนซ์สามารถซ่อมแซมให้กลับคืนสภาพเดิมได้ในวงเงิน 1,200,000 บาท โจทก์จึงมีหน้าที่จัดการซ่อมรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ให้ผู้เอาประกันภัยแล้วรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันมาเรียกร้องค่าซ่อมเอาจากจำเลยร่วมที่ 1 การที่โจทก์พิจารณาจ่ายค่าเสียหายตามทุนประกันจำนวน 2,200,000 บาทให้แก่ผู้เอาประกันแทนการซ่อมรถให้ผู้เอาประกันเป็นเรื่องที่โจทก์และผู้เอาประกันตกลงกันเองที่ขัดกับหลักปฏิบัติของโจทก์ ในกรณีที่รถเอาประกันสามารถซ่อมได้ทางโจทก์จะไม่คืนทุนประกันให้ลูกค้า กรณีจึงไม่อาจนำมาเรียกร้องให้จำเลยร่วมที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ได้ จำเลยร่วมที่ 1 คงรับผิดต่อโจทก์ตามความเสียหายที่แท้จริงที่โจท์จะต้องจ่ายไปในการซ่อมรถให้ผู้เอาประกันภัยไว้ในวงเงินจำนวน 1,200,000 บาท ที่จำเลยร่วมที่ 1 อ้างและฎีกาว่า รถยนต์ยี่ห้อเบนซ์เมื่อซ่อมแล้วสามารถนำออกขายได้ในราคา 1,500,000 บาท เมื่อนำราคารถที่ขายได้มาหักออกจากค่าซ่อมรถแล้วโจทก์จึงไม่เสียหายนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ต้องนำรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ไปซ่อม จำเลยร่วมที่ 1 มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าซ่อมรถให้โจทก์ อันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของจำเลยร่วมที่ 1 การที่โจทก์จะนำรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ซึ่งได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาจากบริษัทกู๊ดลัคโปรดักท์ จำกัด ไปดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้ได้เงินมาชดเชยค่าเสียหายตามทุนประกันที่โจทก์ได้จ่ายไปในส่วนที่ยังขาดอยู่ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะกระทำได้ ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยร่วมที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ เมื่อโจทก์ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 เป็นเงินจำนวน 482,481 บาท จำเลยร่วมที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 717,519 บาท แก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์และฎีกาข้อนี้ของจำเลยร่วมที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยร่วมที่ 1 มีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นบริษัทประกันภัยรับประกันภัยรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์คันเกิดเหตุ หากโจทก์ทราบว่าจำเลยร่วมที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิด โจทก์ย่อมจะต้องฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 มาพร้อมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์แล้ว ที่จำเลยร่วมที่ 1 นำสืบอ้างว่า หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น-8422 สมุทรสาคร และจำเลยร่วมที่ 1 ได้ไปพบร้อยเวรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรโคกขาม จำเลยร่วมที่ 1 ได้พบกับพนักงานของโจทก์และของจำเลยที่ 2 และพนักงานของโจทก์ทราบว่า จำเลยร่วมที่ 1 เป็นคนขับรถยนต์กระบะคันดังกล่าว แต่โจทก์ไม่ฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 เองนั้น เป็นเรื่องที่ขัดเหตุผลไม่อาจรับฟัง ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ปรากฏว่า โจทก์ยังไม่ทราบว่าจำเลยร่วมที่ 1 เป็นใครเพราะหลังเกิดเหตุได้หลบหนีไปและเข้าใจว่าจำเลยร่วมที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะเป็นนายจ้าง ต่อมาเมื่อโจทก์ทราบในภายหลังว่าจำเลยร่วมที่ 1 เป็นคนขัรถยนต์กระบะคู่กรณีและไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้หมายเรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ ดังนั้น เมื่อโจทก์เพิ่งรู้ตัวจำเลยร่วมที่ 1 ผู้กระทำละเมิดและโจทก์ได้ขอให้ศาลหมายเรียกตัวจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาในคดีเมื่อวันที่30 มิถุนายน 2541 คดีโจทก์สำหร้บจำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอทุธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share