แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 8 (15) ระบุให้จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องตักเตือนก่อนเพราะถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงและไม่จ่ายค่าชดเชยหากลูกจ้าง “ดื่มสุราเครื่องดองของเมาในที่ทำการหรือบริเวณบริษัทฯ ในเวลาทำงานหรือเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมึนเมา” ทั้งโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ชำนาญงาน มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของแบตเตอรี่และแผ่นธาตุที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพของแบตเตอรี่อันเป็นสินค้าที่จำเลยผลิต การเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยอาการเมาสุรา ย่อมทำให้การปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าของจำเลยได้ ดังนั้น แม้ผู้บังคับบัญชาของโจทก์จะไม่ให้โจทก์เข้าทำงานและให้กลับบ้านไป แต่การที่โจทก์เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยอาการเมาสุราก็เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดวินัยกรณีร้ายแรงจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ทั้งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการผลิตแบตเตอรี่ โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยเมื่อเดือนเมษายน 2536 ตำแหน่งผู้ชำนาญงานชั้นหนึ่งฝ่ายประกันคุณภาพ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,761 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2548 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2548 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2549 รวม 50 วัน คิดเป็นเงิน 12,935 บาท โจทก์ทำงานกับจำเลยจนถึงวันเลิกจ้างเป็นเวลา 12 ปีเศษ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน คิดเป็นเงิน 77,610 บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 100,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 12,935 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จและจ่ายค่าชดเชย 77,610 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันเลิกจ้างไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2548 โจทก์ขอทำงานในวันที่ 11 ธันวาคม 2548 ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ แต่โจทก์มาทำงานสายโดยมาถึงเวลา 10.24 นาฬิกา และอยู่ในสภาพเมาสุรา ไม่พร้อมที่จะทำงานได้ ผู้บังคับบัญชาของโจทก์และเพื่อนร่วมงานจึงให้โจทก์ออกจากบริเวณโรงงานและไม่ให้โจทก์ทำงานในวันดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 12 ธันวาคม 2548 จำเลยได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์เพราะเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งถือว่าเป็นกรณีร้ายแรง และระหว่างที่โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหลายครั้ง กล่าวคือวันที่ 15 กันยายน 2543 โจทก์ขาดงานทำให้งานทดสอบแบตเตอรี่เสียหาย วันที่ 26 มีนาคม 2545 เมาสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ วันที่ 22 กันยายน 2545 ละทิ้งหน้าที่ไปดื่มสุราและกลับเข้ามาทำงานในสภาพมึนเมา วันที่ 19 เมษายน 2546 ละทิ้งหน้าที่ออกไปดื่มเบียร์นอกโรงงาน วันที่ 9 มกราคม 2547 ละทิ้งหน้าที่ออกไปนอกโรงงาน วันที่ 10 มกราคม 2547 ละทิ้งหน้าที่ออกไปนอกโรงงานและกลับเข้ามาทำงานหลังจากเวลาเลิกทำงานและมีสภาพมึนเมา วันที่ 5 วันที่ 6 กรกฎาคม 2547 และวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 โจทก์ขาดงานโดยไม่แจ้งเหตุ เป็นผลทำให้แบตเตอรี่ของจำเลยเสียหาย และวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 ละทิ้งหน้าที่ออกไปนอกโรงงาน จำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า โจทก์มิได้ละทิ้งหน้าที่และการที่โจทก์เข้าไปปฏิบัติงานโดยมีอาการเมาสุราแต่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีไม่ร้ายแรง จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์จึงต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน ดังนั้น จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ แต่การกระทำของโจทก์อาจก่อความเสียหายแก่จำเลยได้ในอนาคต การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 12,935 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องและจ่ายค่าชดเชย 77,610 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 12 ธันวาคม 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นขอให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2536 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,761 บาท จำเลยชำระค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ชำนาญงานชั้นหนึ่ง มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติแบตเตอรี่และแผ่นธาตุที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม 2548 โจทก์ต้องทำงานเวลา 7 นาฬิกา ถึง 15 นาฬิกา แต่โจทก์เข้าทำงานเวลา 10.24 นาฬิกา โดยมีอาการเมาสุรา ในวันดังกล่าวนายธนู หัวหน้าแผนกห้ามโจทก์ทำงานภายในโรงงาน โจทก์จึงออจากโรงงานและกลับบ้าน ต่อมาวันที่ 12 ธันวาคม 2548 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่และดื่มสุราเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยอาการมึนเมาซึ่งเป็นการกระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างร้ายแรง จำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย ล.7 ระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลย จำเลยเคยมีหนังสือเตือนเนื่องจากโจทก์กระทำผิดทางวินัย 8 ครั้ง ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.5 โดยปี 2543 มีหนังสือเตือนเนื่องจากโจทก์ขาดงาน ปี 2545 มีหนังสือเตือนเนื่องจากโจทก์เมาสุราในขณะปฏิบัติงาน 2 ฉบับ ปี 2546 มีหนังสือเตือนเนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่ออกไปดื่มเบียร์นอกบริษัทฯ ปี 2547 มีหนังสือเตือน 2 ฉบับ เนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่ไม่มาปฏิบัติงานและเนื่องจากโจทก์มาปฏิบัติหน้าที่แต่ออกจากบริษัทฯ ไปดื่มสุราจนมึนเมา และในปี 2548 ก่อนจะถูกเลิกจ้างมีหนังสือเตือน 2 ฉบับ เนื่องจากโจทก์ขาดงานและเนื่องจากโจทก์ละทิ้งหน้าที่ มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย ข้อ 5.2.1 ว่า การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนหรือไม่ และการที่โจทก์เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยอาการเมาสุราเป็นความผิดวินัยกรณีร้ายแรงหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ถูกจำเลยตักเตือนเป็นหนังสือในความผิดฐานละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควร เมื่อจำเลยเลิกจ้างเพราะเหตุที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่และเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในอาการเมาสุรา จึงเป็นการเลิกจ้างในความผิดที่โจทก์ได้รับการตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว และการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในอาการเมาสุราเป็นความผิดร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 11 ส่วนที่ 2 ข้อ 8 (15) และตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย เห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาว่า การที่โจทก์เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยอาการเมาสุราเป็นความผิดวินัยกรณีร้ายแรงหรือไม่ก่อนเห็นว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.7 หมวดที่ 11 วินัยและมาตรการทางวินัย ส่วนที่ 2 การลงโทษ ข้อ 8 (15) ระบุให้จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องตักเตือนก่อนเพราะถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงและไม่จ่ายค่าชดเชยหากลูกจ้าง “ดื่มสุราเครื่องดองของเมาในที่ทำการหรือบริเวณบริษัทฯ ในเวลาทำงานหรือเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมึนเมา” ทั้งโจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้ชำนาญงาน มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของแบตเตอรี่และแผ่นธาตุที่ใช้ผลิตแบตเตอรี่ซี่งเป็นหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพของแบตเตอรี่อันเป็นสินค้าที่จำเลยผลิต การเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยอาการเมาสุรา ย่อมทำให้การปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าของจำเลยได้ การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นกรณีร้ายแรง ดังนั้น แม้ผู้บังคับบัญชาของโจทก์จะไม่ให้โจทก์เข้าทำงานและให้กลับบ้านไปก็ตาม แต่การที่โจทก์เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ด้วยอาการเมาสุราก็เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.7 หมวดที่ 11 วินัยและมาตราการทางวินัยส่วนที่ 2 การลงโทษ ข้อ 8 (15) ซึ่งเป็นความผิดวินัยกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ทั้งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง