คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4545/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมศุลกากรได้มีความเห็นตามที่เจ้าหน้าที่เสนอมาว่า ม. ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารถยนต์ใช้แล้วจากประเทศญี่ปุ่นได้นำเข้ารถยนต์โดยสำแดงรุ่นผิดไปจากรถยนต์โตโยต้า ซอเรอร์ เป็นรถยนต์โตโยต้า มาร์คทู ต่อมา ม. ขอยกรถยนต์คันดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดินเพื่อตกลงระงับคดีตามมาตรา 27 หรือ 27 ทวิ ของ พ.ร.บ. ศุลกากร จึงให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้อง แม้จำเลยที่ 10 จะมีความเห็นให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมโดยมิได้มีความเห็นชี้ขาดก่อนว่าการกระทำของ ม. จะเป็นความตามมาตรา 27 หรือว่าจะเป็นความผิดตามมาตรา 27 ทวิ ฐานใดฐานหนึ่ง เพื่อพิจารณาก่อนว่าความผิดที่ ม. กระทำจะตรงหรือไม่ตรงด้วยข้อหาความผิดที่จะเปรียบเทียบได้ก็ตาม ก็หาเป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่ เพราะอำนาจการวินิจฉัยชี้ขาดว่า ม. ผู้นำเข้ารถยนต์จะมีความผิดฐานใด เป็นอำนาจของศาล
การเปรียบเทียบปรับโดยอธิบดีกรมศุลกากร ตามมาตรา 102 ก็ดี หรือโดยคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องตามมาตรา 102 ทวิ ก็ดี จะต้องปรากฏว่าผู้จะถูกฟ้องร้องได้ยินยอมและใช้ค่าปรับตามที่มีผู้มีอำนาจได้เปรียบเทียบด้วยจึงจะชอบ ดังนั้น การที่คณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องได้มีมติให้รับทำความตกลงระงับคดีโดยรับรถยนต์ของกลางไว้เป็นของแผ่นดินตามข้อเสนอของผู้ต้องหา จึงย่อมเป็นการเปรียบเทียบที่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้ในการประชุมของคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องจะมีแต่เลขานุการคณะกรรมการเป็นผู้รายงาน โดยจำเลยที่ 10 และที่ 11 จะทราบข้อเท็จจริงและมิได้ทักท้วงหรือชี้แจงแสดงเหตุผลในที่ประชุมเป็นเรื่องการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่การประชุม ซึ่งไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิด เพราะที่ประชุมจะมีมติอย่างไรย่อมต้องเป็นไปตามความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งมิได้มีเพียงจำเลยที่ 10 และที่ 11 เท่านั้น การมีมติจึงเป็นมติของคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้อง มิใช่ความเห็นส่วนตัวของจำเลยที่ 10 และที่ 11 ดังนี้ แม้การมีมติของคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องจะทำให้โจทก์ไม่สามารถเรียกค่าอากรที่ขาดจากข้าราชการที่กระทำผิดวินัยได้ก็ตาม ก็ไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 10 และที่ 11 รับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากรที่ขาดเป็นเงิน 1,431,496 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 6 ถึงที่ 11 ร่วมกันชำระเงินค่าปรับและเบี้ยปรับที่ขาดเป็นเงิน 1,338,028 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 10 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 11 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 10 และที่ 11 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,769,524 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 10 และที่ 11 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 10 และที่ 11 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 10 และที่ 11 ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2529 นายมนัสชัยได้ยื่นแบบรายละเอียดประกอบการประเมินอากรสำหรับรถยนต์นั่งใช้แล้วจากญี่ปุ่นนำเข้ามาในประเทศไทยต่อจำเลยที่ 1 เจ้าหน้าที่ประเมินอากรของโจทก์ โดยสำแดงรายการสินค้าที่นำเข้าเป็นรถยนต์โตโยต้า มาร์คทู ซึ่งความจริงเป็นรถยนต์โตโยต้า ซอเรอร์ ทำให้การประเมินค่าภาษีอากรขาดไป ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากรได้ยึดรถยนต์คันดังกล่าวได้ นายมนัสชัยขอตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากรโดยยินยอมยกรถยนต์ของกลางให้เป็นของแผ่นดิน โจทก์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อกรณีเป็นความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือหลีกเลี่ยงอากรหรือรับซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ตามมาตรา 27 หรือ 27 ทวิ ของ พ.ร.บ. ศุลกากร ฯ และเป็นอำนาจของคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องที่จะเปรียบเทียบและงดการฟ้องร้อง ในที่สุดคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องได้มีมติให้รับทำความตกลงระงับคดีโดยรับรถยนต์ของกลางไว้เป็นของแผ่นดินตามข้อเสนอของนายมนัสชัย ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในชั้นอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 10 และที่ 11 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในเงินค่าภาษีอากรที่ขาดเป็นเงิน 1,431,496 บาท หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เมื่อจำเลยที่ 6 เสนอความเห็นตามลำดับชั้นต่อผู้บังคับบัญชาว่ากรณีเป็นการลักลอบหรือรับซื้อไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่ายังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องอันเป็นความผิดตามมาตรา 27 หรือ 27 ทวิ นั้น เป็นการเสนอความเห็นตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองทะเบียนคนต้างด้าวและภาษีอากรผู้จับกุม และในชั้นกองคดีที่นายมนัสชัยได้ยื่นคำร้องขอให้เปรียบเทียบได้ทำบันทึกข้อความเสนอจำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมศุลกากรโดยผ่านตามลำดับชั้นบังคับบัญชา และจำเลยที่ 10 มีคำสั่ง “นำเสนอคณะกรรมการเปรียบเทียบพิจารณา” ดังนั้น การสั่งดังกล่าวเป็นการสั่งตามความเห็นที่เสนอมาตามลำดับชั้นบังคับบัญชาประกอบข้อเท็จจริงที่ได้ความ และแม้จำเลยที่ 10 จะมิได้ชี้ขาดว่าการกระทำของนายมนัสชัยไม่ต้องด้วยข้อหาความผิดที่จะเปรียบเทียบได้หรือไม่ เพราะจำเลยที่ 10 มิใช่ผู้เสนอความเห็นและผู้มีคำสั่งเป็นผู้พิจารณาและชี้ขาดว่าการกระทำของนายมนัสชัยเป็นความผิดตามมาตรา 27 หรือ 27 ทวิ เพราะการที่จะพิจารณาและชี้ขาดว่านายมนัสชัยจะเป็นผู้กระทำผิดและถูกลงโทษทางอาญาในบทใดหรือไม่เป็นอำนาจของศาลเท่านั้น
ส่วนการรับทำความตกลงระงับคดีโดยรับรถยนต์ของกลางไว้เป็นของแผ่นดินตามข้อเสนอของนายมนัสชัย ผู้ต้องหา และตามความเห็นของกองทะเบียนคนต่างด้าวและภาษีอากร ผู้จับกุมนั้น ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 และ 102 ทวิ เห็นว่า การเปรียบเทียบปรับโดยอธิบดีกรมศุลกากรตามมาตรา 102 ก็ดี หรือโดยคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องตามมาตรา 102 ทวิ ก็ดี จะต้องปรากฏว่าผู้จะถูกฟ้องได้ยินยอมและใช้ค่าปรับตามที่ผู้มีอำนาจได้เปรียบเทียบด้วยจึงจะชอบ ดังนั้นการที่คณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องพิจารณาแล้วมีมติให้รับทำความตกลงระงับคดีโดยรับรถยนต์ของกลางไว้เป็นของแผ่นดินตามข้อเสนอของผู้ต้องหา ย่อมเป็นการเปรียบเทียบที่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 10 และที่ 11 ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ในคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องต่างมีหน้าที่เสนอข้อมูลต่อที่ประชุมคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้อง แต่จำเลยที่ 10 และที่ 11 มิได้ทักท้วงหรือชี้แจงแสดงเหตุผลในการประชุมคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้อง จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องมีมติรับรถยนต์ของกลางไว้เป็นของแผ่นดินและระงับการฟ้องร้อง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า การปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเลขานุการคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องเป็นผู้รายงานแทนนั้น แม้จำเลยที่ 10 และที่ 11 จะทราบข้อเท็จจริงและมิได้ทักท้วงหรือชี้แจงแสดงเหตุผลในที่ประชุมคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้อง ก็เป็นเรื่องการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ในการประชุม ซึ่งไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิด เพราะที่ประชุมจะมีมติอย่างไรย่อมต้องเป็นไปตามความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งมิได้มีเพียงจำเลยที่ 10 และที่ 11 เท่านั้น การมีมติที่ประชุมจึงเป็นมติของคณะกรรมการเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องมิใช่ความเห็นส่วนตัวของจำเลยที่ 10 และที่ 11 ดังนี้ แม้การมีมติจะทำให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายและไม่สามารถที่จะเรียกค่าอากรที่ขาดจากข้าราชการที่กระทำผิดวินัยได้ ก็ไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 10 และที่ 11 รับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ได้ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share