คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2575/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำร้องของโจทก์ที่อ้างว่า โจทก์มีสิทธิได้รับการสอบสวนความผิดทางวินัยจากกรรมการสอบสวนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในองค์กรของจำเลยตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนทางวินัยของจำเลย การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น กรณีตามคำร้องของโจทก์มิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าการจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริตได้ออกคำสั่งโดยมิชอบ ตั้งจำเลยที่ 3 และที่ 6 ซึ่งมิได้เป็นผู้ปฏิบัติงานการประปาส่วนภูมิภาคเป็นประธานกรรมการสอบสวนและกรรมการสอบสวนฝ่าฝืนข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาค ข้อ 39 และข้อ 40ร่วมกับจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 เพื่อสอบสวนทางวินัยกล่าวหาว่าโจทก์ทุจริตในการเบิกเงินค่าเช่าบ้านทั้ง ๆ ที่โจทก์ได้เบิกเงินค่าเช่าบ้านถูกต้องตามระเบียบ ต่อมาจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าการได้ออกคำสั่งพักงานโจทก์โดยอาศัยคำสั่งกรรมการสอบสวนที่ไม่ชอบ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการประปาส่วนภูมิภาคทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยและเพิกถอนคำสั่งพักงาน หากไม่ยอมปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

โจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนทางวินัยบางข้อ ซึ่งตามระเบียบข้อ 3 และข้อ 4 โจทก์มีสิทธิได้รับการสอบสวนจากกรรมการสอบสวนที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในการประปาส่วนภูมิภาค แต่จำเลยยกเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่วางไว้เฉพาะกับโจทก์แต่ผู้เดียว โจทก์เห็นว่า การกระทำของจำเลยขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 หลายบท คือ มาตรา 28, 29 และ30 โจทก์มีสิทธิได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอกันกับพนักงานคนอื่น ๆของการประปาส่วนภูมิภาคตามมาตรา 4 และ 5 สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่โจทก์ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลแรงงานกลางแล้วตาม มาตรา 26 หากศาลเห็นว่ากรณีของโจทก์เป็นการกระทำที่จำเลยโต้แย้งสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ ศาลต้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและส่งสำนวนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 264 หากเห็นว่าไม่เป็นไปตามมาตรา 264 ศาลก็มีคำสั่งยกคำร้องโจทก์ เมื่อศาลยังไม่สั่งโจทก์จึงยังมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ ขอศาลฎีกาได้โปรดพิจารณาคำร้องของโจทก์ หากเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขอได้โปรดส่งสำนวนไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาด้วย

ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว คำร้องของโจทก์ที่อ้างว่า โจทก์มีสิทธิได้รับการสอบสวนความผิดทางวินัยจากกรรมกาสอบสวนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในองค์กรของจำเลยตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนทางวินัยของจำเลย การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว โดยแต่งตั้งบุคคลภายนอกองค์กรของจำเลยมาเป็นกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์นั้น เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 4, 5, 26, 28,29 และ 3 ศาลต้องรอการพิจารณาคดีของโจทก์ไว้เป็นการชั่วคราวและส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 264 นั้นเห็นว่า กรณีตามคำร้องของโจทก์มิใช่เป็นการโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จึงมิใช่กรณีที่ศาลจะต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2540 มาตรา 264 จึงให้ยกคำร้อง”

Share