แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดซึ่งลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดในหนี้อันเกิดจากการละเมิดดังกล่าวโดยไม่จำกัดจำนวนร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077(2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ไปตามถนนพหลโยธินด้วยความประมาท ทำให้รถเสียหลักพุ่งเข้าชนเสาไฟฟ้าและหมายเลขดวงโคม อันเป็นทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งติดตั้งบนไหล่ถนน เสาหัก โคมไฟแตกเสียหายใช้การไม่ได้ คิดเป็นเงิน 5,264 บาท 50 สตางค์ จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดมีหน้าที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ด้วย ขอศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 5,264 บาท 50 สตางค์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่าเสาไฟฟ้าและดวงโคมที่เสียหายไม่ใช่ของโจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 3 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย เหตุที่เกิดไม่ใช่ความประมาทของจำเลยที่ 3 แต่เป็นเหตุสุดวิสัย ค่าเสียหายไม่เกิน 2,650 บาท โจทก์สมยอมจ่ายค่าซ่อมมากเกินสมควร โจทก์รู้ตัวจำเลยทั้งสามนับแต่วันละเมิด คดีขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 3ไม่ยื่นคำให้การ โจทก์ไม่ได้ขอให้ศาลสั่งว่า จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การภายใน 15 วัน ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คดีขาดอายุความ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 3 ทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำไป พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 5,264 บาท 50 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาในปัญหากฎหมายว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้จัดการ จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในคดีนี้เป็นส่วนตัวโดยไม่จำกัดจำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยไม่จำกัดจำนวนร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077(2) ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 590/2520 ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 5,264 บาท 50 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์