คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2566/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาธรรมดา ต้องเป็นสัญญาที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาระผูกพันเพิ่มขึ้นต่างหากจากการปฏิบัติตามสัญญาโดยปกติทั่วไป การที่จำเลยอนุมัติสินเชื่อให้โจทก์เพื่อจัดทำโครงการศูนย์การค้าในวงเงิน 27,000,000 บาท แต่จำเลยก็ตกลงยินยอมให้โจทก์ขอสินเชื่อได้เป็นคราว ๆ ไป โดยให้โจทก์ทำสัญญากู้ไว้แก่จำเลย ดังนั้น จำนวนวงเงินที่โจทก์ได้รับอนุมัติจากจำเลย เป็นแต่เพียงจำนวนเงินขั้นสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิได้รับการสนับสนุนจากจำเลยเท่านั้น ไม่ใช่จำนวนเงินที่กำหนดไว้แน่นอนเพื่อผูกพันจำเลยตามที่ได้อนุมัติไว้แต่อย่างใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าสัญญาสนับสนุนโครงการศูนย์การค้าของโจทก์เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญากู้ธรรมดา
หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับหนี้ตามสัญญากู้เงินเป็นหนี้ต่างประเภทกัน มีเงื่อนไขและวิธีการในการคิดดอกเบี้ยแตกต่างกันตามที่คู่กรณีตกลงกัน เมื่อโจทก์กับจำเลยตกลงกันให้จำเลยหักเงินในบัญชีกระแสรายวันเพื่อชำระหนี้เงินกู้ จึงเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันใช้บังคับกันได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มีเงินเหลืออยู่ในบัญชีกระแสรายวันที่จะให้จำเลยหักชำระหนี้เงินกู้ จำเลยจึงตกลงยินยอมให้โจทก์เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีกระแสรายวันเพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ การคิดดอกเบี้ยของจำเลยในกรณีนี้จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยตามข้อตกลง หาใช่การคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์รวมเป็นเงิน 72,621,564.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินตามคำฟ้อง หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทน และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะไถ่ถอนจำนองที่ดินแล้วเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์จำเลยคำนวณหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีใหม่ โดยมิให้นำหนี้จากสัญญากู้เงินมาหักในบัญชีดังกล่าว หากโจทก์เป็นหนี้เท่าใดก็ให้ชำระแก่จำเลยเท่านั้น หากโจทก์ชำระเกินให้จำเลยชำระเงินคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่หักชำระหนี้ไว้เกินแต่ละงวดเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังว่า เมื่อปี 2535 โจทก์จัดทำโครงการศูนย์การค้าเวียงคำเมืองใหม่ บนเนื้อที่ดินประมาณ 42 ไร่ โจทก์ขอสินเชื่อซึ่งจำเลยอนุมัติให้กู้ในวงเงิน 27,000,000 บาท โจทก์ทำสัญญากู้เงินจำนวน 10,000,000 บาท และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 5,000,000 บาท โดยโจทก์จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 79 แปลง เป็นประกัน โจทก์ทำสัญญากู้เงินจำนวน 12,000,000 บาท โดยมีนายเฉลิม เป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน ต่อมาโจทก์ได้รับเพิ่มวงเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกจำนวน 5,000,000 บาท โดยโจทก์ได้ทำบันทึกเพิ่มวงเงินจำนองที่ดินมีโฉนด 3 แปลง และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำนวน 53 แปลง โจทก์ทำสัญญากู้เงิน 12,000,000 บาท เพื่อนำไปชำระเงินกู้ตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี โดยมีนายเฉลิมและนางวไลย เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาเมื่อปลายปี 2539 โจทก์ขอกู้เงินเพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์อีก 17 คูหา แต่จำเลยไม่อนุมัติ เมื่อโจทก์ชำระหนี้เงินกู้และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาฉบับแรก จำเลยปลอดจำนองที่ดินแก่โจทก์เพียง 17 แปลง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญากู้ธรรมดา เป็นสัญญาสนับสนุนโครงการศูนย์การค้าท่ารถของโจทก์ โจทก์และจำเลยต่างมีสิทธิและหน้าที่ต้องปฏิบัติตอบแทนซึ่งกันและกัน การที่เมื่อปลายปี 2539 โจทก์ขออนุมัติวงเงินเพิ่มจากจำเลยเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ จำนวน 17 คูหา ในที่ดินที่จำนองไว้แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นการขอสินเชื่อใหม่จากจำเลย แต่เป็นไปตามสัญญาสนับสนุนทางด้านการเงินให้แก่โครงการศูนย์การค้าท่ารถที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันมาแล้ว การที่จำเลยไม่สนับสนุนสินเชื่อให้แก่โจทก์ จึงเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาต่อโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ย่อมทำให้โครงการของโจทก์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจนถึงขั้นไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย เห็นว่า สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาธรรมดา จักต้องเป็นสัญญาที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาระผูกพันเพิ่มขึ้นต่างหากจากการปฏิบัติตามสัญญาโดยปกติทั่วไป สำหรับคดีนี้แม้จะปรากฏว่าจำเลยอนุมัติสินเชื่อให้โจทก์เพื่อจัดทำโครงการศูนย์การค้าในวงเงิน 27,000,000 บาท แต่จำเลยก็ตกลงยินยอมให้โจทก์ขอสินเชื่อได้เป็นคราว ๆ ไป โดยให้โจทก์ทำสัญญากู้เงินไว้แก่จำเลย ดังนั้นจำนวนวงเงินที่โจทก์ได้รับการอนุมัติจากจำเลยเป็นแต่เพียงจำนวนเงินขั้นสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับการสนับสนุนจากจำเลยเท่านั้น หาใช่จำนวนเงินที่กำหนดไว้แน่นอนเพื่อผูกพันจำเลยตามที่ได้อนุมัติไว้แต่อย่างใดไม่ ทั้งการอนุมัติให้โจทก์กู้เงินก็เป็นไปตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์และวิธีการที่จำเลยกำหนดตกลงกับโจทก์ ซึ่งจากพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่ส่อแสดงให้เห็นได้ว่า การที่โจทก์ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากจำเลยแล้วทำสัญญากู้เงินจากจำเลยในแต่ละคราวนั้น โจทก์ต้องมีภาระผูกพันเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากสถานะของลูกหนี้ตามสัญญากู้ อันจะต้องปฏิบัติต่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้แตกต่างไปจากลูกหนี้โดยปกติทั่วไปของจำเลยด้วยเหตุประการใด ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าสัญญาสนับสนุนโครงการศูนย์การค้าของโจทก์เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญากู้ธรรมดา การที่จำเลยไม่อนุมัติวงเงินเพิ่มให้โจทก์เพื่อดำเนินการโครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ จำนวน 17 คูหา จึงมิได้เป็นการปฏิบัติผิดสัญญาต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยในปัญหานี้มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยจะต้องปลอดจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1442, 663 และ 664 ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า สัญญาจำนองที่ดินและบันทึกขึ้นเงินจำนองไม่ได้ประกันถึงหนี้ในอนาคต โดยเป็นประกันเฉพาะแต่หนี้ทุกประเภทที่โจทก์มีต่อจำเลยขณะทำสัญญาจำนองคือ สัญญากู้และสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเท่านั้น เมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาแล้ว จำเลยจึงต้องปลอดจำนองที่ดินให้แก่โจทก์ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า เมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยได้ปลอดจำนองที่ดินให้แก่โจทก์แล้วจำนวน 17 แปลง อีกทั้งสัญญาจำนองที่ดินระบุไว้ว่า เป็นประกันหนี้และภาระผูกพันใดๆ ทุกชนิดของโจทก์ต่อจำเลยซึ่งย่อมหมายถึงเป็นการประกันหนี้ทุกประเภทที่โจทก์มีต่อจำเลย โดยมิได้มีข้อระบุจำกัดไว้ว่าเป็นประกันหนี้เฉพาะตามสัญญาเท่านั้น เมื่อโจทก์ชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนยังมิได้ชำระให้แล้วเสร็จตามจำนวนหนี้ที่แท้จริง ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงมีภาระผูกพันติดจำนองอยู่อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนถนนในโครงการซึ่งไม่มีการประเมินราคาเพื่อเป็นหลักทรัพย์ในการจำนองอีกด้วย ดังนั้น จำเลยจึงไม่จำต้องปลอดจำนองที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยในปัญหานี้มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยคืนหรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยหักชำระหนี้เงินกู้จากบัญชีกระแสรายวันตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิใช่เป็นเรื่องการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย การคิดดอกเบี้ยของจำเลยจึงชอบด้วยข้อตกลงและวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงินแล้ว เห็นว่า หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับหนี้ตามสัญญากู้เงินเป็นหนี้ต่างประเภทกัน โดยเป็นหนี้ต่างชนิดแยกต่างหากจากกันจึงมีเงื่อนไขและวิธีการในการคิดดอกเบี้ยแตกต่างกันไปตามที่คู่กรณีตกลงกัน เมื่อโจทก์กับจำเลยตกลงกันให้จำเลยหักเงินในบัญชีกระแสรายวันเพื่อชำระหนี้ในหนี้เงินกู้ จึงเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันใช้บังคับกันได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มีเงินเหลืออยู่ในบัญชีกระแสรายวันที่จะให้จำเลยหักชำระหนี้เงินกู้ได้ จำเลยจึงตกลงยินยอมให้โจทก์เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีกระแสรายวันเพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์ตกเป็นลูกหนี้ในหนี้อันจะต้องเสียดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันไว้กับจำเลย การคิดดอกเบี้ยของจำเลยในกรณีนี้จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยตามข้อตกลงหาใช่การคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากหนี้ดังกล่าวคืนจากจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยในปัญหานี้มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share