คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5737/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กำหนดเวลาขอผัดฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล ต้องเริ่มนับทันทีตั้งแต่วันแรกที่ร้องขอผัดฟ้องจะเริ่มนับในวันรุ่งขึ้นจากที่ร้องขอผัดฟ้องต่อศาลหาได้ไม่ มิฉะนั้นอาจมีกรณีที่เวลาของกำหนดระยะเวลาผัดฟ้องกับเวลาที่ครบกำหนดเจ็ดสิบสองชั่วโมงนับแต่ที่จับผู้ต้องหาได้ อาจไม่ต่อเนื่องกันเกิดขึ้นได้ เมื่อเวลาที่ครบกำหนดเจ็ดสิบสองชั่วโมงนับแต่ที่จับผู้ต้องหาได้คือเวลา 16.30 นาฬิกา ของวันที่ 13ตุลาคม 2529 พนักงานสอบสวนขอผัดฟ้องต่อศาลครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2529 และมีการขอผัดฟ้องรวม 5 ครั้ง ครั้งละ 6 วันดังนี้วันที่โจทก์อาจฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการเป็นวันสุดท้ายจึงตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2529 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 12 พฤศจิกายน 2529 โดยมิได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการจึงไม่ชอบ แม้ศาลจะอนุญาตให้ผัดฟ้องมาโดยมีการนับกำหนดเวลาผิดพลาด โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะฟ้องคดีโดยฝ่าฝืนกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จด้วยการใส่ความหมิ่นประมาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 326, 328, 90คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 7, 8
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา นายสุระ สวัสดิ์พาณิชย์ และนายสุรชัยสะมาลีย์ ผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 326 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 7, 8 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 326 ซึ่งเป็นบทหนักปรับ 2,000 บาท ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะฟ้องคดีพ้นกำหนดผัดฟ้องโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ ตามพระราชบัญญัติ ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7, 9 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2529เวลา 16.30 นาฬิกา พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยมาขอผัดฟ้องต่อศาลชั้นต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 เดือนเดียวกันนั้นมีกำหนด 6วัน จากนั้นได้มีการขอผัดฟ้องเป็นลำดับมาอีก 4 ครั้ง คือนับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2529 วันที่ 26ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2529 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2529 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2529 และครั้งสุดท้ายศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ผัดฟ้องได้มีกำหนด 6 วัน นับแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2529โจทก์นำตัวจำเลยมาฟ้องเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2529 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดขอผัดฟ้องตามที่ได้รับอนุญาตจากศาล โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้มีการขอผัดฟ้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2529 กำหนดเวลาขอผัดฟ้องจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2529 เป็นต้นไป วันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องก็อยู่ในกำหนดเวลาที่ขอผัดฟ้องไว้และศาลอนุญาตแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กำหนดเวลาขอผัดฟ้องในกรณีที่เกิดความจำเป็นไม่สามารถฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้ทันภายในกำหนดเวลาเจ็ดสิบสองชั่วโมงนับแต่เวลาที่จับผู้ต้องหาได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7วรรคสอง นั้น ต้องเริ่มนับทันทีตั้งแต่วันแรกที่ร้องขอผัดฟ้องต่อศาลจะเริ่มนับในวันรุ่งขึ้นจากที่ร้องขอผัดฟ้องต่อศาลหาได้ไม่มิฉะนั้นอาจมีกรณีที่เวลาของกำหนดระยะเวลาผัดฟ้องกับเวลาที่ครบกำหนดเจ็ดสิบสองชั่วโมงนับแต่ที่จับผู้ต้องหาได้ อาจไม่ต่อเนื่องกันเกิดขึ้นได้ เช่นคดีนี้ซึ่งเวลาที่ครบกำหนดเจ็ดสิบสองชั่วโมงนับแต่จับผู้ต้องหาได้คือเวลา 16.30 นาฬิกา ของวันที่ 13 ตุลาคม 2529แต่วันที่ 14 ตุลาคม 2529 นั้นเริ่มแต่เมื่อล่วงพ้นเวลา 24 นาฬิกาของวันที่ 13 ตุลาคม 2529 ไปแล้วเป็นต้น เช่นนี้กำหนดระยะเวลาขอผัดฟ้องจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2529 จะเริ่มนับในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 14 ตุลาคม 2529 ดังที่โจทก์ฎีกาหาได้ไม่เมื่อกำหนดระยะเวลาขอผัดฟ้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2529มีการขอผัดฟ้องรวม 5 ครั้ง ครั้งละ 6 วัน การผัดฟ้องครั้งแรกครบกำหนดวันที่ 18 ตุลาคม 2529 ครั้งที่ 2 นับแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2529ถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2529 ครั้งที่ 3 นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2529ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2529 ครั้งที่ 4 นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2529ถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2529 ครั้งสุดท้ายนับแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน2529 ถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2529 ดังนี้วันที่โจทก์อาจฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการเป็นวันสุดท้ายจึงตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2529 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 12 พฤศจิกายน 2529โดยมิได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ จึงไม่ชอบแม้ศาลจะอนุญาตให้ผัดฟ้องมาโดยมีการนับกำหนดระยะเวลาผิดพลาด โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะฟ้องคดีได้โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share