คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2560/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับพวกตาม ป.อ. มาตรา 326 , 328 , 332 และ พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 4 , 48 โดยบรรยายข้อความที่จำเลยที่ 2 ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยที่ 1 ให้ข่าวในคำฟ้องว่า “… ซึ่งเป็นการทำซ้ำ
หลักฐานที่ชุดสอบสวนเดิมมอบให้ พล.ต.ต.ส. เท่ากับว่า พล.ต.ต.ส. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต…” คำว่า โดยทุจริตนั้นมีความหมายว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น แม้จะไม่มี รายละเอียดว่าทุจริตอย่างไรก็เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โด้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ สมควรที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับราชการตำรวจ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ ๑ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น สังกัดพรรคความหวังใหม่ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้พิมพ์โฆษณา โดยเป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ข่าวสด เมื่อระหว่างวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๒ ถึงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๒ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ ๒ ได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๒ ตามข้อความที่จำเลยที่ ๑ ให้ข่าว โดยพาดหัวข่าวว่า เปิดเผยว่า… ซึ่งเป็นการทำซ้ำหลักฐานที่ชุดสอบสวนเดิมมอบให้ พล.ต.ต. เสรี เท่ากับว่า พล.ต.ต. เสรี ปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือโดยทุจริต ผู้ร้องเรียนจึงร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าพนักงานแต่ที่สุดกรมตำรวจกลับมีความเห็นยุติเรื่อง คณะกรรมาธิการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องเรียนได้ทำหนังสือกล่าวโทษบุคคลแน่นอน ซึ่งพนักงานสอบสวนรับเรื่องและสอบพยานบุคคลแล้ว ถือเป็นการสอบสวนตามประมวลกฎหมายอาญา จึงต้องดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นในสำนวนว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ และการสั่งยุติหรือระงับการสอบสวนของอธิบดีกรมตำรวจไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” รายละเอียดปรากฏตามภาพถ่ายหนังสือพิมพ์ข่าวสดเอกสารท้ายฟ้อง ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองมีเจตนาให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเข้าใจว่า โจทก์ทำหลักฐานเท็จในคดีลอบสังหารบุคคลสำคัญ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและกระทำการโดยทุจริตอันเป็นความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เหตุเกิดทุกตำบลทั่วราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ , ๓๒๘ , ๓๓๒ , ๘๓ , ๘๔ , ๙๐ , ๙๑ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ. ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔ , ๔๘ และให้จำเลยทั้งสองโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์แนวหน้า มติชน ไทยรัฐ ไทยโพสต์ ข่าวสด เดลินิวส์ สื่อธุรกิจการเมืองและสยามรัฐในหน้า ๑ ขนาดกว้าง ๔ นิ้ว ยาว ๘ นิ้ว มีกำหนด ๑๕ วันติดต่อกัน โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นงดไต่สวนมูลฟ้องและเห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับลงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๒ ตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้องนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อความที่ลงพิมพ์เป็นข่าวกล่าวถึงโจทก์ว่า “…ซึ่งเป็นการทำซ้ำหลักฐานที่ชุดสอบสวนเดิมมอบให้ พล.ต.ต. เสรี เท่ากับว่า พล.ต.ต. เสรี ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต…” คำว่า โดยทุจริตนี้มีความหมายว่าเพื่อแสวงหาประโยชน์มี่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น แม้จะไม่มีรายละเอียดว่าทุจริตอย่างไร ก็เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งอาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ จึงสมควรที่ศาลชั้นต้นจะต้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองให้งดไต่สวนมูลฟ้องและเห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษา ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share