คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3519/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการขยายระยะเวลาให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ออกไปเกินกว่ากำหนดเวลา 2 เดือน จะมีได้ก็แต่กรณีที่เจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร
ผู้ร้องเป็นนิตบุคคลไทยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร จึงเป็นบุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรตั้งแต่มีการฟ้องคดีตลอดมาจนถึงวันที่มีการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้มิใช่เจ้าหนี้จำพวกอยู่นอกราชอาณาจักร จึงไม่มีเหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายระยะเวลายื่นคำรับชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2545
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ในมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินรวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำนวน 18,379,982.68 บาท ผู้ร้องตรวจสอบข้อมูลทางระบบอินเตอร์เน็ต กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 พบว่านายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2545 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลและเลิกกันโดยผลของกฎหมาย เจ้าหนี้ทั้งหลายต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนสถานะเป็นนิติบุคคลเสียก่อนจึงจะฟ้องบังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยที่ 1 ได้ ผู้ร้องยื่นคำขอคัดหนังสือรับรองของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2546 จึงทราบว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2545 ผู้ร้องไปติดตามสำนวนที่กรมบังคับคดีเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2546 พบว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาฉบับลงวันที่ 7 มกราคม 2546 การตรวจสอบข้อมูลเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 ยังไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้ร้องเพิ่งทราบจากหนังสือรับรองเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2546 ว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดได้ และถือว่ามีเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้พร้อมทั้งยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านในวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 ผู้คัดค้านมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2546 โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากล่วงเลยระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว ผู้ร้องเห็นว่าคำสั่งของผู้คัดค้านไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่ได้วินิจฉัยถึงเหตุผลในคำร้องของผู้ร้องว่า มีเหตุสมควรตามกฎหมาย เป็นพฤติการณ์พิเศษ และเหตุสุดวิสัย หรือไม่ อย่างไร การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้และการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องชอบด้วยเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านแล้วมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง กับให้ผู้คัดค้านรับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนด 2 เดือน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 ข้ออ้างของผู้ร้องไม่ใช่เหตุสุดวิสัยหรือพฤติการณ์พิเศษ คำสั่งของผู้คัดค้านชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2545 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาฉบับลงวันที่ 7 มกราคม 2546 พร้อมทั้งแจ้งให้เจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันประกาศโฆษณา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 และยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านในวันเดียวกัน ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่า มีเหตุที่ผู้ร้องจะได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2545 ผู้ร้องตรวจสอบข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตในเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าตรวจสอบเกี่ยวกับสถานะต่างๆ ของนิติบุคคลที่ได้ยื่นจดทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์ พบว่านายทะเบียนได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2545 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลและเลิกกันโดยผลของกฎหมาย ผู้ร้องและเจ้าหนี้ทั่วไปจะต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนสถานะเป็นนิติบุคคลเสียก่อน จึงจะฟ้องบังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยที่ 1 ได้ ในวันตรวจสอบข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตดังกล่าวยังไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด วันที่ 6 มิถุนายน 2546 ผู้ร้องไปขอคัดหนังสือรับรองของจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปยื่นคำร้องต่อศาล จึงทราบจากหนังสือรับรองว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2545 ครั้นไปติดตามสำนวนที่กรมบังคับคดีเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2546 จึงพบว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลงประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาฉบับลงวันที่ 7 มกราคม 2546 พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดได้ เห็นว่า กำหนดเวลายื่นคำรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าหนี้อื่นๆ ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 กรณีเจ้าหนี้อยู่ในราชอาณาจักรต้องยื่นภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกิน 2 เดือน ดังนี้ จะเห็นได้ว่าการขยายระยะเวลาให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ออกไปเกินกว่ากำหนดเวลา 2 เดือน จะมีได้ก็แต่กรณีที่เจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร คดีนี้ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลไทยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร จึงเป็นบุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรตั้งแต่มีการฟ้องคดีตลอดมาจนถึงวันที่มีคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ มิใช่เจ้าหนี้จำพวกอยู่นอกราชอาณาจักรข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ผู้ร้องยกมาให้ฎีกาถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด และถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยดังที่ผู้ร้องฎีกา จึงไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง คำสั่งและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share