คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 256/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาคดีส่วนแพ่งตาม ป.ม.วิ.อาญา ม.46 ให้ศาลถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ส่วนการชี้ขาดคดีส่วนแพ่ง ศาลต้องดำเนินตามมาตรา 47 กล่าวคือ ดูว่าตามข้อเท็จจริงที่ได้จากคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้น จำเลยต้องรับผิดในทางแพ่งประการใดหรือไม่ ทั้งนี้โดยไม่คำนึงถึงเลยว่าจำเลยผิดในทางอาญา และต้องมีโทษหรือไม่อย่างไร
ปลัดอำเภอบังคับให้ผู้แจ้งปริมาณเสื้อผ้า ขายเสื้อผ้าต่าง ๆ แก่ผู้อื่นโดยราคาถูก แม้จะเชื่อโดยสุจจริตว่า ทำไปโดยมีอำนาจ โดยชอบด้วยกฎหมาย และผู้ซื้อรับซื้อโดยคิดว่าถูกต้องก็ตาม ถ้าปรากฏว่า การกระทำนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฏหมาย เพราะได้มีประกาศยกเลิกการควบคุมในการนั้นแล้ว ปลัดอำเภอและผู้รับซื้อก็ต้องรับผิดฐานละเมิด
โจทก์กล่าวบรรยายข้อเท็จจริงไว้เป็นตอน ๆ ได้ความชัดว่า จำเลยที่ 1 บังคับให้โจทก์ขายผ้าให้จำเลยที่ 2, 3, 4 ในราคาถูกโดยไม่มีความชอบธรรมที่จะทำได้ตามกฎหมาย เป็นการเพียงพอที่จะให้ค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ รับราชการเป็นปลัดอำเภอปัว จำเลยที่ ๔ รับราชการเป็นสารวัตรอำเภอปัว จำเลยที่ ๒, ๓ ตั้งร้านค้าขายอยู่ในอำเภอปัว เมื่อวันที่ ๔ หรือวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๗ จำเลยที่ ๑ ได้แอบอ้างอำนาจและตำแหน่งหน้าที่ราชการซึ่งไม่มีความชอบธรรมที่จะทำได้ตาม ก.ม.มาสั่งบังคับให้โจทก์ขายเสื้อผ้าต่าง ๆ ตามที่โจทก์แจ้งปริมาณไว้ให้แก่จำเลยที่ ๒, ๓, ๔ ในราคาถูก ซึ่งความจริงทางราชการได้ประกาศและสั่งยกเลิกการควบคุมในการนี้แล้ว แต่วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๗ จึงกระทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงิน ๗๒๓ บาท ๒๗ สตางค์ ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม.๓๐๔ และเรียกราคาทรัพย์ ๗๒๓ บาท ๒๗ สตางค์
ศาลชั้นต้นยกฟ้องข้อหาในทางอาญา คงให้จำเลยใช้เงิน๗๒๓ บาท ๒๗ สตางค์แก่โจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อทางอาญาศาลยกฟ้อง โดยฟังว่าคดียังไม่มีหลักฐานมั่นคงพอว่าจำเลยได้ทราบการยกเลิกการควบคุมมาก่อนแล้ว จะให้จำเลยรับผิดในทางแพ่งมิชอบ จึงพิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา, ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่บังคับให้โจทก์ขายผ้าให้แก่จำเลยที่ ๒, ๓, ๔ และจำเลยที่ ๒, ๓, ๔ รับซื้อไว้นี้ จำเลยกระทำไปโดยจงใจ และเมื่อจำเลยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วย ก.ม. แม้จำเลยที่ ๑ จะเชื่อโดยสุจจริตว่า มี และ จำเลยที่ ๒, ๓, ๔ จะรับซื้อโดยคิดว่าถูกต้องก็ตาม เมื่อความจริงเวลานั้นได้ยกเลิกการควบคุม และจำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจบังคับให้โจทก์ขายแล้ว จำเลยทั้งหมดก็ต้องรับผิดฐานละเมิด จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ บังคับคดีตามศาลชั้นต้น

Share