แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ มาตรา 275 กำหนดให้คดีที่กล่าวหานายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ป.อ. หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาและพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยกำหนดหลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ว่า ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทำความเห็นส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 4 บัญญัติว่า “นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ห้ามมิให้ศาลอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้พิจารณาพิพากษา” และมาตรา 9 บัญญัติว่า “ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้ (1) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี…กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น” เมื่อคดีนี้มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น หาอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้นที่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 275 วรรคหนึ่ง จึงไม่รับฟ้องไว้พิจารณา
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ มาตรา 275 กำหนดให้ คดีที่กล่าวหานายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาและพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยกำหนดหลักการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ว่า ผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทำความเห็นส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 4 บัญญัติว่า “นับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ห้ามมิให้ศาลอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้พิจารณาพิพากษา” และมาตรา 9 บัญญัติว่า “ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้ (1) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี… กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น” เมื่อคดีนี้มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น หาอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณานั้น จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน